โรงพยาบาลวิมุต นำโดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด และที่ปรึกษา รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแลนำร่องด้วยเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมนวัตกรรมที่ช่วยลดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย อาทิ อุปกรณ์ป้องกันการดึงสำหรับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย รถสระผมเคลื่อนที่ ที่ช่วยให้การสระผมผู้ป่วยติดเตียง เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 7 ล้านคน หรือมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุก 5 คน ในขณะที่ปริมาณผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุยังมีน้อยมาก โรงพยาบาลวิมุต ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจด้านการสาธารณสุขชั้นแนวหน้าของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพที่สุด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมการสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เป็นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การสร้างความภาคภูมิใจ และการเพิ่มความมีคุณค่าในตนเอง ลดการพึ่งพา ลดภาระสำหรับญาติหรือผู้ดูแล และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน มีการออกแบบเน้นทั้งความสวยงามและเหมาะสมกับสรีรของคนไทย สามารถใช้งานในสถานพยาบาลและที่พักอาศัยทั่วไป เช่น ชุดอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์ป้องกันการดึงสำหรับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย รถสระผมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ และในโอกาสนี้ ขอขอบคุณบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและได้ร่วมนำเสนอทั้งความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ เพื่อให้โครงการนี้สามารถมอบประโยชน์แก่ผู้สูงอายุในประเทศไทยของเราอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
ขอบเขตการดำเนินงานในช่วงแรก เริ่มด้วยการนำชุดอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ มาใช้งานในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกของโรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลวิมุต บางนา-วงแหวน ให้สามารถรับประทานอาหารด้วยตนเองได้สะดวกขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยชุด จาน ชาม ช้อน แก้ว มีการออกแบบใช้สีเขียวอ่อน ซึ่งโทนสีตัดกับสีของอาหารทั่วไป เพื่อให้มองเห็นอาหารในจานได้ชัดเจนขึ้น ฐานของชามมีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้ง่ายต่อการตักอาหาร ส่วนช้อนออกแบบให้มีน้ำหนักเบา และมีรูปทรงที่เหมาะสมกับอุ้งมือ มีปริมาณความจุของช้อนเพียง 5 มิลลิลิตร เพื่อป้องกันการตักอาหารมากเกินไป เสี่ยงต่อการสำลัก ส่วนด้ามช้อนมีพื้นผิวที่เหมาะแก่การกระตุ้นการสัมผัสของผู้สูงอายุ และมีความโค้งสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารไหลเลอะมือผู้ใช้ เป็นต้น
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด กล่าว่า “ชุดภาชนะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงชุดนี้ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน และใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดการใช้งานจริง ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบจานจะมีก้นจานที่ลาดเอียงเพื่อให้อาหารไหลไปด้านที่ลึกกว่า ส่วนขอบจานจะเอียงเช่นกัน แต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นจาน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการตักอาหาร ก้นจานออกแบบให้มีส่วนยื่นออกทางด้านข้าง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้มือที่ไม่ได้จับช้อนช่วยประคองจานให้อยู่กับที่ในขณะรับประทานอาหาร หรือการออกแบบแก้วน้ำที่สอดรับกับขนาดของมือ โดยออกแบบให้ก้นแก้วสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณน้ำในแก้วไม่ให้มากเกินไป ป้องกันการสำลัก และขอบแก้วมีส่วนยื่นเพื่อให้อุ้งมือสามารถพยุงแก้วได้ง่ายและกระชับขึ้น บริเวณตัวแก้วไม่ให้มีรอยเว้า เพื่อแก้ปัญหาการจับแก้วผิดด้าน เหล่านี้เกิดจากการวิจัยและพัฒนามาอย่างยาวนาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสอดคล้องกับสรีรวิทยาของผู้สูงอายุและผู้ป่วยชาวไทยมากที่สุด”
ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด กล่าวว่า “ชุดภาชนะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถแก้ปัญหาการใช้ภาชนะแบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระผู้ดูแลได้อีกด้วย ซึ่งชุดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารนี้ เกิดจากการระดมความคิดเพื่อร่วมกันออกแบบโดยพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดและนักออกแบบ ตลอดจนการทดลองใช้งานกับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้อมือและแขนอ่อนแรงนานถึง 3 ปี ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ในชีวิตจริง ทั้งในแง่ความปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้วัสดุ food grade ความสวยงาม ความทนทาน นอกจากนี้ เรายังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ดูแลอีกด้วย เช่น รถสระผมเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง และถุงมือป้องกันการดึงสำหรับผู้ป่วย สำหรับอนาคต เรายังมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ สำหรับใช้ในสถานพยาบาล เช่น การร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้ป่วย ที่เน้นความสะดวก ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย โดยการพัฒนามีเป้าหมายสำคัญได้แก่ การผลิตเพื่อใช้งานและการจำหน่ายต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งในการงยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในเมืองไทย และต้อนรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ปัจจุบัน โรงพยาบาลวิมุตให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ เพื่อตอบรับเทรนด์สังคมผู้สูงวัยในสังคมไทยที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมเฉพาะสุขภาพทางกายหรือโรคประจำตัวเท่านั้น แต่ยังพิจารณาในแง่องค์รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เพื่อให้ทุกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทุกมิติ