THREL เดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศเต็มสปีด ผนึกความร่วมมือพันธมิตรพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ รองรับด้านจิตเวชและกลุ่มผู้สูงวัย ปักธงเบี้ยรับรวมปี 2566 เติบโต 4-5% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม พร้อมรักษาระดับ Combined Ratio ที่ 95% เตรียมจ่ายเงินปันผลอัตรา 0.07 บาท พ่วงหุ้น 60 ต่อ 1 วันที่ 24 พฤษภาคมนี้ โชว์ผลงานไตรมาส 1/2566 รายได้สุทธิทะลุ 700 ล้านบาท
นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL เปิดเผยถึงแนวโน้มและทิศทางภาพรวมปี 2566 ว่า บริษัทฯเดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย, ไต้หวัน, กัมพูชา และสปป.ลาว ที่ยังมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวในระดับสูง พร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆขยายงานตลาดในประเทศ ทั้งงานประกันชีวิตแบบดั้งเดิม (Conventional) และงานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กับลูกค้า (Non-Conventional) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผนึกความร่วมมือพันธมิตร ร่วมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านจิตเวช และกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อต่อจิ๊กซอว์ New S-Curve ขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่อง เบื้องต้นตั้งเป้าผลักดันเบี้ยประกันภัยต่อรับรวมเติบโต 4-5% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตที่คาดการณ์เติบโตได้ราว 0-2% พร้อมรักษาระดับ Combined Ratio (COR) ไว้ที่ 95%
ล่าสุด บริษัทฯได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้จ่ายเงินปันผลงวดปี 2565 แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด อัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวม 52 ล้านบาท พร้อมหุ้น อัตรา 60 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.0166 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปี 2565 บริษัทฯจ่ายปันผลทั้งสิ้น 0.166 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% ของกำไรสุทธิ ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำของนโยบายจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 หลังกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 9 พฤษภาคมนี้
นายสุทธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2566 เบี้ยประกันภัยต่อรับเติบโตแตะ 668 ล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิเติบโตต่อเนื่องกว่า 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แตะ 712 ล้านบาท ตามการเพิ่มขึ้นของแบบประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ และโรคร้ายแรง จากสัญญาใหม่ของงานต่างประเทศที่ทำไว้ในปี 2565
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวม 739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนราว 24% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทน เป็นผลจากจำนวนการเข้ารักษาในโรงพยาบาลของผู้เอาประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ หลังการชะลอการตัวจากเหตุไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากการติดเชื้อในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งตามค่าเงินเฟ้อ ส่งผลให้บริษัทฯมีผลขาดทุนสุทธิ 14 ล้านบาท โดย Combined Ratio (COR) อยู่ที่ระดับ 108.2%
“บริษัทฯ เร่งดำเนินการทบทวนค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้มีความสอดคล้องกับ medical inflation และ มุ่งเน้นความสำคัญในการคุมเข้มความเสี่ยงของการรับงาน เพื่อควบคุมคุณภาพผลการรับประกันภัยให้ combined ratio กลับสู่ระดับ 95% และยังมีการขยายงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อการเติบโตที่มั่นคงและแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง” นายสุทธิกล่าว