วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 12:42น.

TCMC ปิดไตรมาส 2/64 ยังคงทำรายได้กว่า 1.7 พันล้าน เร่งเครื่องปรับตัวเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจฟื้นในอนาคต

17 สิงหาคม 2021

TCMC ปิดไตรมาส 2/64 ยังคงทำรายได้กว่า 1.7 พันล้าน 

        ทีซีเอ็ม เผยผลประกอบการไตรมาสที่สองยังคงทำรายได้กว่า 1.7 พันล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 ครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ยังคงทำกำไรและมีรายได้สูงขึ้น จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่เริ่มฟื้นตัว เร่งลงทุนด้านบุคลากรและการบริหารจัดการหวังฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง หลังประสบความสำเร็จปิดดีลซื้อกิจการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษ ‘Arlo & Jacob’ และคว้าดีลใหญ่สำเร็จ

         นางสาว ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC)  เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่สองของปี 2564 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 1,746.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,031.44 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69.37 และมี EBITDA จำนวน 80.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 261.52 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 37.70 ล้านบาท ทำได้ดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 64.87 ล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยคิดเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 49.85 ล้านบาท

        “สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก หลังรัฐบาลอังกฤษมีการประกาศคลายล็อกดาวน์ และกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ ยังคงทำกำไรและมีรายได้สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ในส่วนของกลุ่มวัสดุปูพื้นยังคงมีรายได้ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2563 เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว ถึงแม้จะมีทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนได้อย่างกว้างขวางในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา แต่ลูกค้าหลักของเราซึ่งอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ (hospitality) ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเราคาดว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างในช่วงต้นปีหน้าที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเริ่มมากขึ้น ครอบคลุมประชากรโดยส่วนใหญ่ ทำให้อาจเห็นการผ่อนคลายการ ล็อกดาวน์ในบางประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มลงทุนเตรียมรับกับการเปิดประเทศบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ รอยัลไทย (Royal Thai) ของเราก็ได้ทยอยส่งมอบงานคาสิโนขนาดใหญ่ที่มาเก๊าที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2561 และเพิ่งปิดดีลใหญ่จากสนามบินชางงีสิงคโปร์ ซึ่งมีแผนการลงทุนรีโนเวตเพื่อรองรับการฟื้นตัวและการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนในอนาคต” นางสาว ปิยพร กล่าว

ในไตรมาส 2/2564 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 171.36 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสหราชอาณาจักรประกาศคลายล็อคดาวน์ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจยังไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้เต็มที่ เนื่องจากวิกฤตการณ์ระบบขนส่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการขาดแคลนและขึ้นราคาของวัตถุดิบหลักที่ยังคงเป็นปัญหา และกลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่สูงขึ้น จากการที่ร้านค้าต่างๆ เปิดทำการเต็มรูปแบบ และบริษัทเพิ่งเข้าซื้อกิจการร้านค้าปลีก Arlo & Jacob ทำให้มีการลงทุนในเรื่องของบุคลากรและการดำเนินงาน แต่บริษัทก็หวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนเพื่ออนาคต โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน ค่าภาษีและส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิ 18.09 ล้านบาท สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ จะเน้นเรื่องการสร้างประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนให้ได้ตามเป้า พัฒนาบุคลากร และเพิ่มช่องทางการขายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าปลีกด้วยช่องทางออนไลน์ รวมถึงการวางระบบเพื่อแผนการเข้าตลาดในปี 2566

        ในส่วนของกลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) รายได้ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2563 ร้อยละ 27.37 เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลก แต่จากการที่กลุ่มธุรกิจพยายามควบคุมต้นทุน ถึงแม้จะมีปริมาณคำสั่งซื้อลดลง โดยมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารรวมกันต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน จากการลดค่าใช้จ่ายและทำองค์กร lean หลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงิน และภาษี ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนสุทธิ 37.66 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 2.49 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทพยายามหาตลาดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าทดแทน เช่น กลุ่มลูกค้าที่พักอาศัย(Residential) ที่ยังมีกำลังซื้อ และกลุ่มสำนักงาน ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 368.06 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังมีออเดอร์ต่อเนื่องมาจากช่วงปี 2562 โดยได้มีการทยอยส่งมอบงานข้ามปี เช่น งานรีโนเวตคาสิโนที่มาเก๊า และล่าสุดยังได้ดีลใหญ่กับสนามบินชางงีที่สิงคโปร์  สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ ถึงแม้สภาพตลาดจะไม่เอื้ออำนวย แต่ทางบริษัทได้เตรียมพร้อมด้วยการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รวมถึงการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคลือบหน้าพรมป้องกันเชื้อโรค และทำความสะอาดได้ง่าย เป็นต้น

        สำหรับกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) ในไตรมาส 2 มีรายได้สูงขึ้นร้อยละ 114.70 เป็นผลต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยและต่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ยอดผลิตรถยนต์ในของประเทศไทยมีจำนวนสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มียอดขายสูงขึ้นตามแนวโน้มอุตสาหกรรม สามารถทำรายได้ 170.07 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 79.21 ล้านบาท เติบโตคิดเป็นร้อยละ 114.70 และยังสามารถควบคุมอัตราต้นทุนให้อยู่ที่ร้อยละ 78.46 จากปริมาณคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้น แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงขึ้นจากการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในรถยนต์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายปันส่วนจากส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ทำให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีผลกำไรสุทธิ 18.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.62 ของยอดขาย โดยบริษัทเตรียมการนำเข้าเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนเครื่องรุ่นเก่า และขยายไลน์การผลิต ให้สามารถผลิตสินค้าในสเปกที่กว้างมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของตลาด

        ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นจากวันสิ้นปี 2563 จำนวน 582.77 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.31 มี หนี้สินรวมเพิ่มขึ้นจำนวน 540.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.32 และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจำนวน 41.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.54 เนื่องจากมีผลต่างจากการแปลงค่างบการเงิน และกำไรจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยจากผลประโยชน์พนักงาน ทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ 2.08:1 สูงกว่าวันสิ้นปี 2563 ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 1.92:1 

        ในส่วนของทั้งปี 2564 นี้ บริษัทยังต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่เกิดจากสายพันธุ์เดลต้าที่มีความร้ายแรงกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลให้แผนการเปิดการประเทศและการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอาจต้องล่าช้าจากแผนเดิมไป แต่เบื้องต้นกลุ่มบริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำรายได้ทั้งปีไม่น้อยกว่าปีก่อนหน้า และจะยังคงดำเนินการหาโอกาสทางธุรกิจและมองหาการลงทุนใหม่ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในอนาคต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น กล่าวปิดท้าย


คลิปวิดีโอ