วันเสาร์ ที่ 19 เมษายน 2568 17:43น.

บสย. หารือ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยร่วมปลุกยอดค้ำประกัน มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ”

18 เมษายน 2025

        นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นายกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ และผู้บริหารจากกลุ่มบริษัทลีสซิ่ง ที่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย นำโดย นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ร่วมด้วยนายอนุฤทธิ์ วงศ์อุดม ประธานสายงานธุรกิจสินเชื่อและเช่าซื้อ นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และนางสาววัลยา ตระการนุวัฒน์กุล ผู้อำนวยการสายงาน ฝ่าย Credit พร้อมผู้แทนจากกลุ่มบริษัทลีสซิ่ง ร่วมประชุมหารือแนวทางพัฒนาโครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ “บสย. SMEs PICK-UP” ภายใต้มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เพื่อปลดล็อกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่จำเป็นต้องใช้รถกระบะเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น กลุ่มเกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย และฟู้ดทรัค เป็นต้น สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ประกอบการ SMEs พร้อมพลิกฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโต เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ บสย. อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2 ชั้น 18

       มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เป็นมาตรการภายใต้นโยบายของภาครัฐ ที่มุ่งช่วย SMEs ลดภาระทางการเงิน ด้วยสิทธิประโยชน์ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก โดยรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ของภาระหนี้ค้ำประกันในแต่ละปี เช่นภาระหนี้สินเชื่อปีที่ 4 คงเหลือ 300,000 บาท SMEs จะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 4,500 บาทเท่านั้น พร้อมค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด วงเงินค้ำประกันสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อราย ภายใต้วงเงินค้ำประกันในระยะแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขอสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับซื้อรถกระบะใหม่เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์

       ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดรับคำขอค้ำประกันภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่ เข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 6,250 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้มากกว่า 2,500 บริษัท

 


คลิปวิดีโอ