บสย. เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อไตรมาสแรก ปี 2568 รวม 8,162 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อกว่า 14,000 ราย สร้างปรากฏการณ์ด้วยมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ปลดล็อก SMEs ซื้อรถกระบะใหม่ ค้าขาย ขนส่งสินค้า ปลุกอุตสาหกรรมยานยนต์คึกคัก
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 บสย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 8,162 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้รับสินเชื่อ 14,183 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs) 89% ค้ำประกันเฉลี่ย 100,000 บาทต่อราย อีก 11% เป็น SMEs ทั่วไป ค้ำประกันเฉลี่ย 4.28 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 10,598 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 66,529 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 33,708 ล้านบาท
สำหรับโครงการตามมาตรการรัฐ โครงการค้ำประกัน PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มียอดค้ำประกันในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 5,069 ล้านบาท เติบโตถึง 32.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในโครงการค้ำประกัน PGS 10 “บสย. SMEs เข้มแข็ง” ที่มียอดค้ำประกัน 3,833 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 28.2% 2. อาหารและเครื่องดื่ม 12.5% และ 3. เกษตรกรรม 8.4% ซึ่งทั้ง 3 ประเภทครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 52% สะท้อนอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนภูมิภาคที่มีการค้ำประกันสูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 46% ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15% ภาคใต้ 13% ภาคเหนือ 11% ภาคตะวันออก 8% ภาคกลาง 5% และภาคตะวันตก 2%
ไฮไลท์สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของ บสย. คือ การเปิดตัวครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ “SMEs PICK-UP” ภายใต้มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ที่ช่วยปลดล็อกให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย อาชีพอิสระ ที่มีความประสงต์ซื้อรถกระบะใหม่ในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการพิจารณาสินเชื่อ เพิ่มโอกาสให้ SMEs ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถกระบะ โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึง 90% ครอบคลุมซัพพลายเชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ มากกว่า 2,500 บริษัท
ภายใต้มาตรการนี้ ช่วย SMEs ลดภาระทางการเงิน ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก โดยรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 1.5% ต่อปีของภาระหนี้ที่ค้ำประกันในแต่ละปี เช่น ภาระหนี้สินเชื่อเงินต้นปีที่ 4 คงเหลือ 300,000 บาท SMEs จะจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพียง 4,500 บาทเท่านั้น โดยค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด วงเงินค้ำประกันสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อราย ภายใต้วงเงินค้ำประกันในระยะแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท เปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันนี้ 1 เมษายน 2568 และสิ้นสุดรับคำขอวันที่ 30 ธันวาคม 2568
“มาตรการกระบะพี่ มีคลังค้ำ ได้รับการตอบรับอย่างมาก จากทั้งจากค่ายรถยนต์ต่างๆ กลุ่มลีสซิ่ง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะเพื่อประกอบอาชีพ เห็นชัดจากงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา สะท้อนว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ของ บสย. มาถูกทาง และมีส่วนสำคัญในการปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับ SMEs รวมถึงมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาดรถกระบะให้กับมาฟื้นตัวอีกครั้ง” นายสิทธิกร กล่าว
นายสิทธิกร กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บสย. ยังมีความโดดเด่นในการแก้หนี้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยในปีนี้ได้ปรับเงื่อนไขมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ให้ผ่อนปรนยิ่งขึ้น เพื่อช่วย SMEs ปลดหนี้ได้เร็วและง่ายขึ้น อาทิ เพิ่มระยะเวลาผ่อน, ตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว มาตรการใหม่ ช่วย SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ที่มียอดหนี้ เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรกเพียง 500 บาท ผ่อนสูงสุด 80 เดือน ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ค่างวดขั้นต่ำเพียง 500-2,500 บาท และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 30% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการในปี 2565 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2568 ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้รวม 19,472 ราย เฉพาะไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 983 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 12,464 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสที่ 1/2568 มูลหนี้ 592 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย. นอกจากนี้ บสย. ได้จัดกิจกรรมเชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปกับลูกหนี้ บสย. หรือ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” นำความช่วยเหลือไปถึงผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดต่างๆ จากกิจกรรมนี้ ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 บสย. สามารถช่วยลูกหนี้ “ปลดหนี้” ได้สูงถึง 171 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าจำนวนลูกหนี้ที่สามารถ “ปลดหนี้” ในปี 2567 ตลอดทั้งปี ซึ่งมีจำนวน 141 ราย