วันอาทิตย์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2567 14:39น.

งบช่วยค่าครองชีพ 1,480 ลบ. อาจตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ! ถ้ารัฐฯ เกาไม่ถูกที่คัน

24 มกราคม 2022

        ภายหลังจากที่ ครม. อนุมัติงบกลาง 1,480 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน ปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอจัดจุดลดราคาสินค้า 3,000 แห่งใน 76 จังหวัด หวังต่อลมหายใจผู้บริโภคจากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนดีขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความเห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่สวยงามอย่างที่คิด หากรัฐบาลบริหารจัดการงบกลางแบบฉาบฉวย พร้อมเสนอให้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงและพุ่งเป้าอัดเม็ดเงินเพื่อแก้ไขที่ต้นตอปัญหา น่าจะทำให้สามารถสร้างสมดุลด้านราคาสินค้าต่างๆ เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคได้ในระยะยาว

        เป็นที่ทราบกันดีว่ามูลเหตุของปัญหาสินค้าขึ้นราคาแบบช็อกความรู้สึกผู้บริโภคในครั้งนี้ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การเกิดโรคระบาดทำให้หมูตายจำนวนมาก ส่งผลให้เนื้อหมูขาดตลาด ลามไปถึงสินค้าทดแทนอื่นๆ และค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่ปรับราคาขึ้นสะเทือนต้นทุนแบบฉุดไม่อยู่ ถือเป็นดาบสองที่มาซ้ำเติมผู้บริโภคในปัจจุบัน สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ งบกลาง 1,400 ล้าน ช่วยค่าครองชีพ นอกจากมาม่าไม่ขึ้นราคา ประชาชนอย่างเราจะได้อะไร? เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลายจากทั้งฝั่งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ตลอดจนผู้แทนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีต่อการจัดสรรงบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในครั้งนี้

        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวถึงการที่รัฐบาลนำงบกลางมาใช้แก้ปัญหาปากท้องผู้บริโภคจากกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดจนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้นเป็นลูกโซ่ว่า จากการประเมินงบช่วยเหลือดังกล่าวสามารถใช้ได้เพียง 3 เดือน ซึ่งตนมองว่าไม่เพียงพอ เพราะเฉพาะแค่ปัญหาราคาหมู กว่าจะแก้ไขให้กลับสู่สภาวะปกติได้ก็อาจกินเวลานานถึง 18 เดือน และดูว่าปัญหาดังกล่าวจะลามไปถึงราคาของสินค้าที่ใช้ทดแทน เช่น ไก่ ไข่ไก่ และเนื้อวัวที่ปรับราคาขึ้นเป็นเงาตามตัวสืบเนื่องจากผลทางจิตวิทยา หนำซ้ำต้นทุนค่าขนส่งและสาธารณูปโภคก็ปรับตัวเพิ่มเพราะปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเช่นกัน กรณีราคาหมูที่สูงอย่างต่อเนื่องนั้น อยากให้รัฐบาลกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขเพราะต้องใช้เวลา ควรตั้งเกณฑ์ราคาว่าสูงถึงแค่ไหนจะมีแผนจัดการอย่างไร หรือหากมองว่าไม่ใช่ปัญหาที่วิกฤติมากอยากทราบว่าปัญหาจะคลี่คลายเมื่อไร เช่นเดียวกับปัญหาราคาน้ำมันที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยอยากให้รัฐบาลรายงานให้ทราบเป็นรายวันเรื่องราคาและมาตรการในการควบคุมเพื่อลดผลกระทบทางจิตวิทยาด้วย ด้านการตรึงราคาสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า และประปา มีมาตรการการชะลอการขึ้นราคาอย่างไร หากชะลอได้ยาวถึง 6 เดือนก็จะทำให้ผู้บริโภคคลายความกังวลลงได้พอสมควร

        โดยความเห็นของ ดร.เดชรัต สอดคล้องกับความเห็นของ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่มองว่ารัฐบาลต้องเข้าใจมูลเหตุของปัญหาอย่างแท้จริงและต้องจัดสรรงบกลางให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ทั้งนี้งบ 1,400 ล้านบาทนั้นจำกัดมากที่จะนำมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนทั่วประเทศ อยากให้แก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดมาตรการระยะยาวมากขึ้น ดังเช่นปัญหาราคาหมูที่สูงขึ้นอยู่นี้ สอบ.ได้จัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการแก้ไข โดยให้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เพราะปัจจุบันเป็นปัญหากับราคาสินค้าในตลาดมากและไม่ได้ช่วยผู้บริโภคเลย พร้อมผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนกับการทำงานของคณะกรรมการในส่วนนี้มากขึ้น จึงเสนอให้มีการจัดการโครงสร้างและนโยบายเพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยเร็ว

        “ปัจจุบันการควบคุมราคาสินค้ามีข้อจำกัดจากฝั่งรัฐบาลมาก ล่าสุดมีการจับแม่ค้าในตลาดประชานิเวศน์ที่จำหน่ายไข่ไก่ในราคาแพง ในขณะที่ละเลยการจับกุมร้านสะดวกซื้อในภาคตะวันออกที่ขายไข่ไก่ในราคาเท่ากันกับแม่ค้าในตลาดประชานิเวศน์ การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม ทำให้ลดความน่าเชื่อถือของหน่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องลง” นางสาวสารี กล่าวถึงการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานที่เกิดขึ้น “กรณีที่มีข่าวว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่ได้กักตุนเนื้อหมูไว้เพื่อหวังผลด้านราคานั้น ตนเสนอให้ภาครัฐตั้งสินบนนำจับ ซึ่งหากทำเช่นนี้เชื่อว่าจะลดปัญหาการกักตุนหมูได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการกรณีเช่นนี้อย่างเข้มงวดและตรงไปตรงมาจึงจะเรียกศรัทธาจากผู้บริโภคกลับมาได้ ตบท้ายด้วยข้อเสนอให้รัฐบาลสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบบำนาญประชาชน เพื่อลดภาระของครอบครัว และสร้างให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจรวมทั้งลดปัญหาค่าครองชีพได้อย่างยั่งยืน”

        “สอบ. พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคทุกกลุ่ม เราอยากเห็นการจัดการอย่างเป็นระบบ และการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นอิสระ การแก้ปัญหาต่างๆ ควรมีการพูดคุยกับองค์กรผู้บริโภคเพื่อสร้างให้เกิดโครงสร้างที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่สนับสนุนการช่วยเป็นกลุ่มเฉพาะ ซึ่งจะทำให้คนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงโอกาสหรือความช่วยเหลือได้น้อย สนับสนุนแนวคิดถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า เตรียมรัดเข็มขัดค่าครองชีพในส่วนอื่นๆ ค่าอาหารค่าเดินทางไม่ควรเกิน 20% ของรายได้ รัฐบาลต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะสมเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หอกทุกเล่มพุ่งมาที่ผู้บริโภคหมดทั้งด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้บริโภค ด้านการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายเหมือนเพิ่มรายได้ไปในตัว ทำโครงสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของคนทุกกลุ่ม จะได้ไม่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังเช่นที่เกิดขึ้น โดย สอบ.จะเข้าไปดูเรื่องโครงสร้างและเสนอนโยบายแก่ภาครัฐต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค” นางสาวสารี กล่าวเสริม

        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้ฉายภาพสาเหตุปัญหาราคาหมูที่พุ่งสูงถึงดาวอังคารว่า อยากให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดอีกครั้งว่ามีการกักตุนหมูจำนวนมากในห้องเย็นของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่าปริมาณที่กักตุนไว้นั้นสามารถจำหน่ายได้นานถึง 7 เดือน ซึ่งการทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาอย่างแน่นอนเท่ากับขาดรอบการผลิตถึง 1 รอบ หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้บริโภคอย่างมาก และการที่รัฐบาลตั้งงบเพื่อจำหน่ายหมูราคาถูก ต้องมีการจัดการให้ดี หมูเหล่านี้ควรส่งให้ถึงมือประชาชนผู้มีรายได้น้อย

        “ผมอยากเห็นโมเดลการแก้ปัญหาที่ได้นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันดังเช่นที่อเมริกาใช้แก้ปัญหาราคาหมูแพง โดยการพูดคุยทุกส่วนในห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานของอเมริกานั้นสามารถทำให้ราคาหมูปรับตัวลดลงหลังจากที่ปรับขึ้นไปที่ 15-20% ทั้งยังทำให้สินค้าทดแทนอย่างเนื้อวัวปรับตัวลงมา 2% ด้วยเช่นกัน” นายวิฑูรย์ อธิบายถึงโมเดลการแก้ปัญหาหมูแพงในอเมริกา “ปัจจุบันในไทยมีผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 45% ทั้งยังครอบครองสายพานการผลิตอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคและสะเทือนความมั่นคงทางอาหารของไทย รัฐจึงควรเข้ามาสอดส่องและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายด้วยการใช้กลไกกฎหมายการค้าเพื่อลดความเดือดร้อนของผู้บริโภค ซึ่งน่าจะช่วยได้ทั่วถึงกว่าการตั้งจุดจำหน่ายหมูราคาถูก ส่วนการนำเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามานั้น คงต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่การนำเข้านั้นจะนำเข้ามาอย่างไรไม่ให้กระทบกับเกษตรกรรายย่อยเรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมเช่นกัน”

        ทั้งนี้ การทำเกษตรแบบพันธสัญญาก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ลดโอกาสด้านการแข่งขันของเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ติดปัญหาเรื่องมาตรฐานโรงชำแหละจนทำให้ไม่สามารถขายตรงสู่มือผู้บริโภคได้ หากรัฐผ่อนปรนข้อกำหนดนี้แต่ยังต้องคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่าการขายราคาส่งให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ดังเช่นปัจจุบัน “ค่าครองชีพจะเพิ่มได้ต้องมีการเติมเงินในระบบเพิ่มขึ้น ทำได้โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มการจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้น งบที่รัฐจัดสรรควรมุ่งไปสู่ผู้มีรายได้น้อยที่ค่าครองชีพเกินครึ่งถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร เกษตรกรรายย่อยในระบบกว่า 100,000 รายควรได้รับการสนับสนุน พัฒนาองค์ความรู้ด้านการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุงเป็นอาหารสัตว์ลดค่าใช้จ่ายค่าอาหาร โปรตีนทางเลือกที่ถูกกว่าเนื้อสัตว์ควรถูกนำมาคำนึงถึงในระยะยาว” นายวิฑูรย์ แสดงความเห็นเพิ่มเติม

        ด้านตัวแทนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นายสิทธิชาติ อังคะสิทธิศิริ ประธานชุมชนคลองเตยล๊อค 1-2-3 ได้แสดงความเห็นต่อการจัดสรรงบพัฒนาโครงการพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชนว่า หากการกระจายโครงการสามารถทำได้ทั่วถึงทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อดูตัวเลขงบ 1,400 ล้านบาทเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศนั้นตนก็ไม่มั่นใจว่าจะช่วยได้ครอบคลุมแค่ไหน หากมองแค่ชุมชนคลองเตยที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10,000 ครัวเรือนหรือประมาณ 100,000 คน การนำรถเข้ามาจำหน่ายเนื้อหมูให้แก่ 10,000 ครอบครัวจะทำได้แค่ไหน จะมีสิทธิ์ซื้อได้กี่คน และยิ่งระยะเวลาเพียง 90 วันก็แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ คนจนจะยิ่งอยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้รายได้ที่มีก็ลดลง ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคนจนคงอยู่ไม่ได้ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการระยะยาวมากกว่ามาตรการระยะสั้นดังที่ทำอยู่ ที่สำคัญอยากให้รัฐเข้ามาส่งเสริมด้านอาชีพให้ความรู้กับคนจน เพื่อนำความรู้เหล่านั้นไปสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ได้อยู่ 8,000-9,000 บาทต่อเดือน เพราะเชื่อว่าการพัฒนาแรงงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย น่าจะเป็นการแก้ไขที่ควรทำควบคู่กันไป เมื่อได้รับการเพิ่มศักยภาพด้านผลิตภาพ ค่าแรงหรือรายได้ก็มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามไป

        โดยค่าแรงของไทยปรับขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2556 ที่ประมาณ 6% หรือเฉลี่ยที่ 320 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่ง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด มองว่าอาจไม่เหมาะในการใช้เป็นดัชนีปรับเพิ่มค่าแรงแต่การปรับโดยอิงเกณฑ์ผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) น่าจะชัดเจนกว่าเพราะรัฐจะมีรายงานในส่วนนี้เป็นรายไตรมาสอยู่แล้ว “หากเราใช้เกณฑ์ผลิตภาพของแรงงานไทยเป็นตัวชี้วัดจะพบว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมานั้น มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ทำให้ค่าแรงสามารถปรับเพิ่มได้ถึง 350-380 บาทต่อวัน ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วย เพราะหากขึ้นค่าแรงเงินเฟ้อยิ่งพุ่ง ดังนั้นต้องคุมราคาสินค้าให้ได้ก่อน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางจิตวิทยา เมื่อทำได้แล้วถึงควรจะพิจารณาเรื่องปรับเพิ่มค่าแรง เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมกลับมาดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าช่วงสถานการณ์โควิด อำนาจซื้ออยู่กับคนไทยเป็นหลัก การเพิ่มค่าแรงจะช่วยเพิ่มศักยภาพกำลังซื้อเช่นกัน หากปรับเป็นประจำทุกปีบนพื้นฐานของผลิตภาพก็จะสมกับความทุ่มเทที่แรงงานได้ตั้งใจทำลงไป”


คลิปวิดีโอ