วันอังคาร ที่ 17 กันยายน 2567 03:14น.

TBCSD ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

21 สิงหาคม 2024

        เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศ ที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจไทยและรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้า 45 องค์กร ได้จัดงาน “TBCSD Towards a Sustainable Future มุ่งสร้างแรงขับเคลื่อนธุรกิจ ไทยสู่ความยั่งยืน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศ

         นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวในช่วงการเปิดงานว่า กว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่สมดุลขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มีความมุ่งมั่นส่งเสริมเครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินงานธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอบสนองนโยบายและเป้าหมายของประเทศไทย

        โดยในช่วงการเสวนา “CEO Forum : Leading Sustainable Business” ผู้บริหารจากองค์กรภาคธุรกิจไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน นำโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งองค์กรภาคธุรกิจไทยมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)  และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการกำหนดเป้าหมาย มาตรการ และกรอบกิจกรรม เพื่อแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เชื่อมต่อเป้าหมายของประเทศและระดับนานาชาติ

        ด้าน นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บทบาทสำคัญของธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มการเงินและธนาคาร นอกจากจะทำให้การดำเนินงานภายในบริษัทตนเองไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องช่วยให้ลูกค้าและสังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการตั้งเป้าหมาย Sustainable Financing and investment มูลค่า 2 แสนล้าน ภายในปี 2030 การทำ Glidepath and sector strategies และการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นสนับสนุนเรื่อง Climate Solution และการสร้าง Green Ecosystem เพื่อร่วมเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน

        นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ได้แก่ นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ การผลิตและการจัดหาน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนถือเป็นความท้าทายหลักในการมุ่งไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ว่า “การมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยทุกองค์กรต้องวางแผนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้” โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและเติบโตอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

        นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Green Process ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทุกขั้นตอน เพื่อให้ไปให้ถึงเป้าหมายด้าน Net Zero Carbon Target เริ่มตั้งแต่ Green People คือ การเลือกและพัฒนาบุคลากรที่มีหัวใจสีเขียว Green Partners และ Green Procurement คือ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ เน้นการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Green Construction คือ การก่อสร้างที่คำนึงถึงชุมชนและสังคม ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบและก่อสร้างอาคารอย่างยั่งยืน

         นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญ คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมาก รวมทั้งกำลังศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านธุรกิจ การพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

        นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยคมมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และได้ต่อยอดความความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจดาวเทียมสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม CarbonWatch เป็นเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นรายแรกของประเทศไทย และพร้อมที่จะผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ต่อไป

        นอกจากนี้ TBCSD ได้มีการนำเสนอข้อมูลการยกระดับมาตรฐานขององค์กรไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับเป้าหมายระดับประเทศในการมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ผ่านเวที “Move forward Challenges and Directions for Net Zero” จากองค์กรสมาชิก TBCSD ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (พลังงานเชื้อเพลิง) กลุ่มพลังงานไฟฟ้า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม


คลิปวิดีโอ