ซีเอ็ดยูเคชั่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ทุกระดับชั้น ภายใต้สังกัดการอาชีวศึกษาที่จะได้เข้ามาฝึกงานในส่วนงานต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีรายได้เสริมในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อตัวนักเรียน นักศึกษา โดยการฝึกงานนี้ จะยังสามารถนำผลการทำงานมาคิดเป็นผลการเรียนภาคปฏิบัติ หรือชั่วโมงฝึกงานได้อีกด้วย
เมื่อปี พ.ศ. 2560 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อจัดการการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนอาชีวศึกษา ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ของซีเอ็ด ให้กับนักศึกษา ระบบทวิภาคี สังกัด สอศ. ในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก และสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ในโครงการนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กับร้านหนังสือซีเอ็ดสาขาต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 33 คน จากสถานศึกษา โครงการนี้ช่วยให้นักเรียนและนักศึกษา ได้ฝึกปฏิบัติและพัฒนาทักษะอาชีพจริงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับซีเอ็ด การทำงานในสถานประกอบการจริง ช่วยเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและความชำนาญในงานของนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับโอกาสเรียนรู้และทดลองปฏิบัติในงานจริงของสาขาต่างๆ ช่วยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในด้านที่นักศึกษาสนใจและต้องการพัฒนาต่อไป ได้สัมผัสประสบการณ์ทำงานจริง รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรและระบบการทำงานของภาคธุรกิจ ทั้งยังได้เรียนรู้การสื่อสารระหว่างบุคคลภายในองค์กร การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในสถานประกอบการจริงในอนาคต ซึ่งระยะเวลาของ MOU ดังกล่าว ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
ในครั้งนี้ จะเป็นการสานต่อโครงการดังกล่าวอีกครั้ง จึงนำมาสู่ความร่วมมือในการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน โดยได้รับเกียรติจาก นายรุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายรุ่งกาล ไพสิฐพานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ ซีเอ็ด กล่าวว่า “ ในปี 2566 นี้ ซีเอ็ด มีนโยบายในการสานต่อนโยบายการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการและทักษะในการประกอบอาชีพ โดยโครงการนี้ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษา ระบบทวิภาคีเข้าฝึกการทำงานในส่วนงานต่าง ๆ ของซีเอ็ด อาทิเช่น สาขาการบัญชี สาขาการตลาด สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาโลจิสติกส์ ซึ่งนอกจากจะสร้างทักษะความชำนาญในงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากตำราเรียนหรือห้องเรียน
ผมในนามของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน) ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เปิดโอกาสให้ซีเอ็ด เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ระบบทวีภาคี สังกัด สอศ. ผมเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาในสายวิชาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังสำคัญให้ภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต ”
นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ ในนามของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับซีเอ็ด ในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาในส้งกัดอาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมฝึกงานเพื่อสร้างประสบการณ์ในวิชาชีพ ในรูปแบบจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำงานพิเศษระหว่างปิดภาคเรียน จากการดำเนินงานความร่วมมือฯ ที่ผ่านมา นับว่าเป็นประโยชน์และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการค้าปลีกของอาชีวศึกษา อันจะส่งผลเชื่อมโยงต่อเนื่อง ไปยังตลาดแรงงานของประเทศที่มีฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ ส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถประเทศชาติ ทางคณะกรรมการอาชีวศึกษาขอขอบคุณบริษัทฯ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนช่วยผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ตั้งไว้
นางสาวนาถสุดา สิทธิพรรณโยธา ผู้อำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ซีเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ทางบริษัทจะจัดโปรแกรมการเรียนการสอน ให้ความรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพ และทักษะประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนการเรียนการสอน แผนการฝึกทักษะวิชาชีพ ร่วมกับสอศ. และสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กรอบความร่วมมือที่ซีเอ็ดได้ทำข้อตกลงกับสถาบันการศึกษา บริษัทฯ ได้จัดโปรแกรมการฝึกงานวิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจเข้ามาฝึกงานกับบริษัทฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี รวมถึงการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่สนใจ เช่น ช่วงปิดภาคเรียน เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เป็นต้น“
ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นแนวทางที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ที่ดี ก่อให้เกิดความชำนาญด้านทักษะให้แก่นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญร่วมกัน นักเรียน นักศึกษาจะตระหนักเห็นถึงคุณค่าทักษะวิชาชีพของตนเอง พร้อมนำโอกาสที่ได้รับต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนาทักษะฝีมือและความสามารถ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา และขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และตลาดแรงงานในอนาคต