แสนสิริ ร่วมเซฟโลก เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง จนถึงส่งมอบ เปิดตัว Green Living Designed Home นวัตกรรมบ้านสีเขียว ประเดิมที่เศรษฐสิริ 11 โครงการใหม่ 1,500 ยูนิต เฉลี่ย 1 ปี ลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 18% ต่อ 1 ครัวเรือน พร้อมขยายไปสู่โครงการแนวสูงต้นปีหน้า
นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริให้ความสำคัญกับการดำเนินธรุกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และได้ประกาศพันธกิจร่วมกู้วิกฤต Climate Change อาสาเป็นผู้นำในการสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) พร้อมสร้าง Smart Green-Energy Living Ecosystem การอยู่อาศัยแห่งอนาคตเต็มรูปแบบที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโครงการอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคต สู่การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
“แสนสิริตระหนักถึงการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน การลดการปล่อยของเสีย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภายใต้พันธกิจแสนสิริ Net-Zero นี้ อีกหนึ่งแผนงานที่สำคัญคือการมุ่งมั่นที่จะส่งมอบทุกโครงการใหม่ของแสนสิริด้วยนวัตกรรมบ้านสีเขียว (Green Living Designed Home) โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง จนถึงการส่งมอบบ้านพลังงานสะอาด และเป็นที่น่ายินดีว่า ในปีนี้ เราพร้อมส่งมอบบ้านสีเขียวให้กับลูกบ้านในโครงการเศรษฐสิริ 11 โครงการใหม่ ราว 1,500 ยูนิต เพื่อให้ลูกบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างสมบูรณ์ และที่สำคัญยังช่วยประหยัดพลังงาน โดยหนึ่งครัวเรือน สามารถลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึง 18% ต่อปี และได้วางเป้าขยายผลสู่คอนโดมิเนียมแบรนด์เดอะเบสทุกโครงการใหม่ในปี 2567 ที่ส่วนกลางของโครงการจะมีการนำแนวทาง Green Living Designed Home ไปต่อยอดในการดำเนินงาน และตั้งเป้าสู่การลดใช้พลังงานในช่วงแรกให้ได้ราว 6%”
แนวคิดนวัตกรรมบ้านสีเขียว (Green Living Designed Home) นี้ ประกอบไปด้วยกลไกในการทำงาน 3 Green Concept เริ่มต้นจาก 1. Green Procurement คือ การเลือกใช้วัสดุ Green Product และเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน มีแผนลดการใช้พลังงานและนํ้า ทั้งในการผลิตและการใช้งานระยะยาว ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่
พร้อมวางเป้าหมายจัดซื้อวัสดุคาร์บอนตํ่า (Low-Carbon) ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ แสนสิริได้เลือกใช้วัสดุ Green Product ในการสร้างบ้านไปแล้วกว่า 53% ตลอดจนผลักดันและสนับสนุนให้พาร์ตเนอร์กว่า 200 ราย ผลิตวัสดุที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถัดมาคือ 2. Green Construction ที่มีขั้นตอนก่อสร้างเป็นมิตรต่อโลก อาทิ นำวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่อย่างไฟเบอร์เฟนส์ (Fiber Fence) ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กมากถึง 3 เท่า ขนส่งและตัดได้ง่าย ไม่มีประกายไฟ มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า รวมถึงการนำนวัตกรรม Fully Precast ที่เป็นตัวเลือกการสร้างบ้านยุคใหม่ด้วยผนัคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจากโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริ มาใช้แทนการก่ออิฐมวลเบาฉาบปูนแบบเดิมๆ ทำให้ลดระยะเวลาการก่อสร้างลง 3 เดือน ลดขยะจากการก่อสร้างได้ถึง 15% ช่วยลดฝุ่นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไซต์ก่อสร้างลงเป็นจำนวนมาก
และ 3. Green Architecture & Design หรือนวัตกรรมการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เช่น Cool Living Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน, Zero Waste Design การออกแบบที่คำนึงถึงการลดปริมาณขยะเหลือทิ้งให้มากที่สุด, Universal Design การออกแบบเพื่อให้ทุกคนที่อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งการผสมผสานแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ให้มีอากาศบริสุทธ์ สะอาดปราศจากเชื้อโรค พร้อมส่งมอบบ้านที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และรองรับการอยู่อาศัยของลูกบ้านอย่างดีที่สุด
จากการที่แสนสิริได้คัดสรรนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย ทั้งความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบการทำงาน 3 Green Concept ข้างต้น นำมาสู่นวัตกรรมบ้านสีเขียว ที่มีองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ Roof Ventilation ฝ้าชายคาระบายอากาศไม่ให้เกิดความร้อนสะสมบนหลังคาบ้าน, Green Glass กระจกเขียวตัดแสงช่วยสะท้อนความร้อน, Breeze Panel หน้าต่างที่มีช่องลมระบายอากาศช่วยให้บ้านปลอดโปร่ง และอากาศถ่ายเทสะดวก, ติดตั้ง Solar Panel บนหลังคาบ้าน ตลอดจน Solar Battery ที่คลับเฮ้าส์สำหรับกักเก็บไฟใช้ในพื้นที่ส่วนกลางโครงการ, Solar Lighting ไฟส่องสว่างให้ถนนในโครงการและพื้นที่ส่วนกลาง, EV Charger สำหรับชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า, Home Appliances ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน, UV Shield Paint สีทาบ้านชนิดพิเศษที่มีความสามารถในการสะท้อนความร้อนจากแสงแดดออกจากตัวบ้าน และปรับอุณหภูมิภายในบ้านให้เย็นสบาย ซึ่งจะสนับสนุนให้ลูกบ้านแสนสิริและคนรุ่นต่อไปได้เติบโตในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่ภาพรวมของโลกกับวิกฤต Climate Change ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ถูกยกเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ไข แนวโน้มของการนำพลังงานและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นทางออกในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายอุทัย กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานแสนสิริ Net-Zero ในปี 2566 นี้ สะท้อนภาพรวมความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ การพัฒนา Low Energy Community Model โดยยกโครงการบุราสิริ กรุงเทพกรีฑา เป็นโครงการต้นแบบ ที่เริ่มพัฒนาบ้านด้วยวัสดุ Green Materials รวมทั้งติดตั้ง Solar Panel ในบ้านทุกหลัง, ติดตั้ง Solar Light บริเวณส่วนกลาง ติดตั้ง EV Charger ที่คลับเฮ้าส์ส่วนกลางและที่บ้าน เพิ่มการปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มในพื้นที่ส่วนกลาง พัฒนาโดยทีมที่จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือ “R&D team for Net-Zero” นอกจากนี้ ทุกโครงการของแสนสิริต้องใช้พลังงานสะอาด ด้วยแผนติดตั้ง Solar Panel ในส่วนกลางของโครงการใหม่ 100% รวมทั้งติดตั้ง Solar Panel ในบ้านทุกหลังของโครงการใหม่ ไฟในสวนต้องเป็นไฟพลังงานแสงอาทิตย์ 100% ส่งผลให้ภายในปีนี้ จะมีบ้านที่ติดตั้ง Solar Panel รวม 1,800 หลัง และอีก 1,500 หลังในปีต่อไป รวมถึงส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดตั้ง EV Charger ในทุกโครงการใหม่ของแสนสิริในทุกเซ็กเมนท์ในปี 2568 และคาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีบ้านที่ติดตั้ง EV Charger ได้ 1,050 หลัง และอีก 750 หลังในปีต่อไป
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนหรืออุณหภูมิสุดขั้ว ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่สะสมมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดสร้างเหตุที่จะทำให้วิกฤตรุนแรงขึ้น สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาเฉพาะการดำเนินการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินทุนประมาณ 0.4 – 0.7% ของ GDP ต่อปี หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นไปที่โครงการบางประเภทเท่านั้น เช่น โครงการด้านการจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ