สิงห์ เอสเตท ประกาศรายได้รวมจำนวน 6,843 ล้านบาท และรายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำจากการดำเนินงานปกติ (Adjusted EBITDA) ที่ 1,493 ล้านบาท พุ่งขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมกางแผนครึ่งปีที่เหลือ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยระดับลักชัวรี จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาทตามแผน โดยบ้านเดี่ยวโครงการแรกจะเริ่มเปิดตัวในเดือนกันยายน ทิศทางการเติบโตสูงสุดของธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะในไตรมาส 4 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ที่ยังคงเดินหน้าตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง หนุนด้วยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่เตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ช่วงปลายปีนี้
รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ประกอบด้วย (1) ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยสะสม 6 เดือนจำนวน 1,172 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเปิดตัว “ลาซัวว์ เดอ เอส” โครงการ Cluster Home ระดับอัลตร้าลักชัวรี ซึ่งเป็น แบรนด์ใหม่และถือเป็นโครงการแฟล็กชิพของสิงห์ เอสเตท ด้วยสถิติราคาขายสูงสุดถึงกว่า 550 ล้านบาทต่อหลัง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทำให้สามารถรับรู้ยอดโอนได้ทันทีภายหลังการเปิดตัวในไตรมาส 2 ที่ผ่านมานี้ (2) รายได้จากการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 36 ล้านบาท และ (3) การรับรู้ค่าเช่าของโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตามสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาวจำนวน 175 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาทำสัญญากับผู้เช่ารายอื่นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปล่อยเช่าระยะยาว เพื่อรักษาระดับอัตราการปล่อยเช่าให้ผันผวนต่ำ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากอุปทานพื้นที่เช่าที่ทยอยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
สำหรับรายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ 4,821 ล้านบาท เนื่องจากการท่องเที่ยวทั่วโลกขยายตัวดีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สอดคล้องการเปิดประเทศทั่วโลก จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโรงแรมของ SHR ที่อยู่ในจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของการท่องเที่ยว หนุนด้วยมาตรฐานการบริการที่เป็นเลิศ และกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก ส่งผลต่อการเติบโตของอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) ของทั้งพอร์ตโฟลิโอที่ปรับสูงขึ้นถึงประมาณ 70% ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ด้วยอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวัน (Average Daily Rate: ADR) ที่เพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตามรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกจำนวน 508 ล้านบาทค่อนข้างทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการทยอยรับรู้รายได้ภายหลังการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของอาคารเอส โอเอซิส (S OASIS) ซึ่งมีพื้นที่เช่ามากกว่า 53,000 ตารางเมตร
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก Adjusted EBITDA ที่เติบโตขึ้น 33% เป็นตัวพิสูจน์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรม และผลสำเร็จจากการปรับตัวทางธุรกิจที่สิงห์ เอสเตทได้ทำมาตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ ถือเป็นช่วงที่เรากำลังสร้างความพร้อมเพื่อต่อยอดความสำเร็จในอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเราคงจะได้เริ่มเห็นผลชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 อันประกอบไปด้วย (1) การพัฒนาโครงการที่พักอาศัยจำนวน 5 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท (2) การปรับปรุงโรงแรม หรือ Major Renovation ของโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์ศักยภาพของพอร์ตโฟลิโอของ SHR ได้แก่ โรงแรม Outrigger Fiji Beach Resort, โรงแรม ทราย ลากูน่า ภูเก็ต, โรงแรม ทราย พีพี ไอซ์แลนด์ วินเลจ และโรงแรมบางส่วนในสหราชอาณาจักรตามกลยุทธ์ Asset Rotation เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลกำไรที่มีประสิทธิภาพ (3) การปรับกลยุทธ์การหาผู้เช่าในกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน และ (4) การควบคุมแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและพัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ “เอส อ่างทอง” เพื่อให้แผนการขายเป็นไปตามโร้ดแม็ปที่บริษัทฯ วางไว้รองรับดีมานด์ Eco Factory & Green industry สำหรับเทรนการลงทุนในอนาคต
ในปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการเติมพอร์ตที่อยู่อาศัยด้วยแผนเปิดตัวโครงการแนวราบที่ทุบสถิติ All-Time High พร้อมเข้าลงทุนในโครงการแนวสูงเพื่อตอบสนองเชิงรุกต่อตลาด (Speed to market) โดย สิงห์ เอสเตท ประเดิมช่วงครึ่งปีแรก ด้วยการเปิดตัวโครงการ Cluster Home ที่นำเสนอความเป็นส่วนตัวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ในรูปแบบ Private Estate ซึ่งจะเป็นบ้านที่ดีไซน์ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษตามกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ให้เหมาะสำหรับไลฟ์ไตล์ที่โดดเด่นอย่างแตกต่าง จำนวน 2 โครงการ คือ Flagship อย่างลาซัวว์ เดอ เอส ที่มีราคาขายกว่า 550 ล้านบาท และล่าสุด SMYTH’S Ramintra ซึ่งเปิดขายที่ราคาเริ่มต้น 120 ล้านบาท และจะทยอยเปิดตัวโครงการแนวราบอีกจำนวน 3 โครงการในระหว่างครึ่งปีหลังปี 2566 นี้ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะพร้อมรับรู้รายได้จากการโอนทันที เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้โครงการที่พักอาศัยในปีนี้ที่กว่า 4,500 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นกว่า 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสร้างฐานใหม่ให้กับรายได้ในปี 2567 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สิงห์ เอสเตท ยังเล็งเห็นถึงสัญญาณบวกจากการฟื้นตัวของตลาดคอนโดในกลุ่มรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป จึงได้ร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาคอนโดในเซ็กเมนต์ที่นอกเหนือไปจากแบรนด์ที่พัฒนาโดยสิงห์ เอสเตท เอง ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญในอนาคตของบริษัทฯ โดยวางแผนจะเปิดขายในปี 2567 เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรม ที่เราวางเป้าหมายรายได้เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 10,000 ล้านบาท โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะเติบโตจากอุปสงค์การเดินทางที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง และการขยายตัวของธุรกิจการบินที่มีสัญญาณการเปิดเส้นทางบินใหม่ในครึ่งปีหลัง เสริมทัพด้วยกลยุทธ์ในการบริหาร RevPAR ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ร่วมกับการพัฒนาและปรับปรุงห้องพักเพื่อตอบสนองกระแสนิยมในการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยที่หนุนขีดความสามารถในการผลักดัน ADR ให้เติบโต โดยเราเชื่อมั่นว่า โรงแรมในพอร์ตโฟลิโอสำคัญของเราจะสามารถทำ ADR ในระดับที่สูงที่สุดได้ เมื่อเข้าสู่ช่วง high season ของแต่ละประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร หรือ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งคิดเป็น 70% ของรายได้รวมของธุรกิจโรงแรม นอกจากนั้นแล้ว โรงแรมในกลุ่ม Outrigger ที่จะได้อานิสงส์จากการปรับปรุงตามแผนของโรงแรม Outrigger Fiji Beach Resort ที่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะผลักดันให้ ADR ของพอร์ตโฟลิโอนี้เติบโตขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก
“สิงห์ เอสเตท มีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนรายได้ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ทั้งปี กว่า 16,000 ล้านบาท พร้อมวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับต่อยอดการเติบโตให้กับผลการดำเนินงานในปีถัด ๆ ไป นอกจากนี้ เราประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนอย่างล้นหลาม ด้วยมูลค่าเสนอขายทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท สำหรับรองรับการขยายธุรกิจเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศของผลประกอบการ ด้วยพันธสัญญาในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างคุณค่าที่ยังยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”
นางฐิติมา กล่าวเสริม