วันอังคาร ที่ 17 กันยายน 2567 03:25น.

“ไรเดอร์ – ผู้บริโภค” หวั่นมาตรการรัฐซ้ำเติมคนไทยยุคโควิดหากลด GP กระทบค่ารอบ 25-50% 

26 สิงหาคม 2021

“ไรเดอร์ – ผู้บริโภค” หวั่นมาตรการรัฐซ้ำเติมคนไทยยุคโควิดหากลด GP กระทบค่ารอบ 25-50% 

        “ไรเดอร์ – ผู้บริโภค” หวั่นมาตรการรัฐซ้ำเติมคนไทยยุคโควิด หลังแหล่งข่าววงในเผยหากรัฐกดดันลดค่า GP ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีอาจต้องเลือกหั่นค่ารอบไรเดอร์ลงอีก 25-50% หรือปรับขึ้นค่าบริการเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ฟากแพลตฟอร์มวอนทบทวนการพิจารณา ชี้! ปรับลดค่า GP ไม่ช่วยทุกฝ่ายในระยะยาว ชงใช้มาตรการเสริม “โปรโมทร้าน-จัดโปรฯแรง-คนละครึ่ง” ดันยอดขายร้านอาหาร ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย

        จากกระแสข่าวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดเก็บค่าส่วนแบ่งการขาย (หรือค่า GP) ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร (ฟู้ดเดลิเวอรี่) เรียกเก็บจากร้านอาหารที่เข้าร่วมในแอปพลิเคชัน โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีความเหมาะสม จากปกติที่มีการจัดเก็บในอัตรา 30-35% ทั้งนี้ จะเร่งพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็วนั้น 

        ล่าสุด แหล่งข่าววงในจากวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ เผยว่า หากมีการควบคุมหรือกดดันให้แอปพลิเคชันต่างๆ ปรับลดค่า GP ลงจริง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพนักงานส่งอาหาร (ไรเดอร์) และผู้บริโภค เนื่องจากผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ทุกเจ้ายังคงขาดทุน จากการทุ่มงบประมาณลงทุนจำนวนมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาดและการทำโปรโมชัน หากภาครัฐปรับลดค่า GP เชื่อว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้คงต้องหาทางลดต้นทุน เพราะไม่สามารถแบกรับปัญหาขาดทุนได้ต่อไป โดยมี 2 ทางเลือก คือ ปรับลดค่าตอบแทนหรือค่ารอบของคนขับ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 25 – 50% หรืออีกทางคือการปรับขึ้นราคาเพื่อให้รองรับค่าแรงคนขับและต้นทุนต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

        ขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี ดร. เก่งการ เหล่าวิโรจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด อย่างในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือให้ปรับลดค่าคอมมิชชันเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับร้านอาหาร โดยผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 4 ได้ให้ความร่วมมือ แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการลดค่า GP ไม่เกิดประสิทธิผลเท่ากับการช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านอาหารผ่านการทำโปรโมชัน มอบส่วนลดหรือการช่วยโปรโมทร้าน ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการ อยากขอให้ภาครัฐทบทวนการพิจารณาและหามาตรการอื่นแทนการปรับลดค่า GP อาทิ การเร่งผลักดันให้โครงการ “คนละครึ่ง” ใช้กับบริการฟู้ดเดลิเวอรีได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับร้านอาหาร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

        “ค่าคอมมิชชันที่แพลตฟอร์มเรียกเก็บจากร้านค้านั้นไม่ใช่ ‘ผลกำไร’ ทั้งหมด แต่เป็นรายได้ที่แพลตฟอร์มต้องนำมาจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนคนขับ ค่าโฆษณาและการทำโปรโมชันสำหรับผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีและระบบต่างๆ โดยแพลตฟอร์มเองต้องพยายามรักษาสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วงโควิด” ดร. เก่งการ กล่าวเสริม

        นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไลน์แมน วงใน กล่าวว่า คงต้องรอดูท่าทีของภาครัฐว่าจะมีนโยบายเรื่อง GP อย่างไร ในส่วนของ LINE MAN ยังไม่มีนโยบายปรับลดค่ารอบของไรเดอร์ที่จ่ายขั้นต่ำ 50 บาท บวกเพิ่มตามระยะทาง ทั้งนี้ หากภาครัฐบังคับให้ต้องลดค่า GP มีโอกาสที่ผลกระทบจะไปตกกับผู้บริโภค ซึ่งจะต้องรับภาระค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐได้ดูโมเดลการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่เพิ่งประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ และไม่อนุญาตให้นั่งกินในร้าน เพิ่งจะมาปลดล็อกได้ไม่นาน โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้นที่จะนั่งกินในร้านได้

        “เมื่อร้านอาหารที่สิงคโปร์ไม่สามารถขายหน้าร้านได้ ทางรัฐบาลสิงคโปร์จึงขอให้แพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยลดค่า GP ลงมา โดยที่รัฐบาลสิงคโปร์จะเข้ามาให้เงินอุดหนุนกับทางแพลตฟอร์ม ในส่วนต่างที่หายไปจากค่า GP ซึ่งเป็นวิธีที่เวิร์กมาก เพราะวินๆ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ลูกค้า ไรเดอร์ หรือแพลตฟอร์มจึงน่าที่ภาครัฐของไทยจะได้พิจารณาจากโมเดลนี้” นายอิสริยะ ย้ำ

        ฟากผู้บริหาร Foodpanda กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายอื่นๆ เคยให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปรับลดค่า GP ชั่วคราวมาแล้ว แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยอดขายและรายได้ของร้านอาหารลดลง เนื่องจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำต้องยกเลิกโปรโมชันและการโปรโมทร้านค้า ขณะที่ไรเดอร์เองก็มีรายได้ลดลงเพราะจำนวนคำสั่งซื้อมีน้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้รับโปรโมชันดีๆ อย่างที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้

        “ค่า GP ที่เรียกเก็บถือเป็นเงินต้นทุนที่แพลตฟอร์มนำมาใช้ในการทำการตลาดให้กับร้านค้าพันธมิตร พอเราไม่มีเงินต้นทุนตรงนี้ ก็แปลว่าสิ่งต่างๆ ที่เคยทำให้ร้านค้า เช่น การโฆษณาโปรโมทร้านก็น้อยลง ซึ่งก็กระทบกับร้านค้า เพราะออเดอร์สั่งซื้อมีน้อยลง ขณะที่ไรเดอร์ก็งานหด รายได้ก็ลดลงไป ส่วนผู้บริโภคที่เคยได้ดีลดีๆ จากแพลตฟอร์ม เช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือส่วนลดค่าอาหาร พอ GP ลดลง ดีลเหล่านี้ก็ลดลงตามไปด้วย กระทบทั้ง ร้านค้า ไรเดอร์ และลูกค้า” ผู้บริหาร Foodpanda ระบุ

        ด้านตัวแทนไรเดอร์ผู้จัดส่งอาหาร นายธนากร พลอยแสง แอดมินเพจ “กูขับ LINEMAN RIDER” กล่าวว่า ตนและสมาชิกในกลุ่มฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการปรับลดค่า GP เพราะท้ายที่สุดย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงกลุ่มไรเดอร์แน่นอน โดยเฉพาะการจะต้องถูกปรับลดค่ารอบ และหากคำสั่งของภาครัฐมีผลบังคับใช้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ จะยิ่งทำให้ไรเดอร์ในต่างจังหวัดที่ได้รับค่ารอบต่ำกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่แล้วอยู่กันอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น ภาครัฐอาจจะไม่ทราบว่าทุกวันนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดและนโยบายล็อกดาวน์ของรัฐบาล หันมาประกอบอาชีพไรเดอร์เป็นจำนวนมากเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทำให้ไรเดอร์เดิมถูกแย่งงานจนรายได้ต่อวันลดลงไปมาก หากมีการปรับค่า GP จนไรเดอร์ต้องถูกลดค่ารอบอีก เชื่อว่าจะต้องมีไรเดอร์จำนวนมากออกมาประท้วงอย่างแน่นอน

        นายอรรถพล คล้ายเอ็ม หนึ่งในแกนนำ “กลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน” กล่าวว่า หากภาครัฐบีบให้ผู้ให้บริการต้องลดค่า GP ตนเชื่อว่านอกจากจะกระทบคนขับโดยตรงแล้ว ยังน่าจะส่งผลถึงผู้ใช้บริการและภาพรวมธุรกิจอาหารด้วย เพราะถ้ารายได้ของแพลตฟอร์มหายไปจากการลดค่า GP บริษัทฯ ก็ต้องมาลดค่ารอบคนขับแน่นอน นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนขับที่ได้รับผลกระทบรวมตัวกันออกไปแสดงพลังให้ภาครัฐได้รับรู้ถึงปัญหาของพวกเรา และถ้าไม่มีทางออกที่ดีหรือรายได้ของคนขับไม่คุ้มค่า ต้องมีคนขับจำนวนไม่น้อยหยุดให้บริการและหันไปทำอาชีพอื่นซึ่งก็ไม่รู้จะหาได้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในที่สุด เพราะเมื่อมีคนส่งอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ต้องรอนานหรืออาจจะไม่มีคนให้บริการเลยในช่วงโควิด

        อีกหนึ่งไรเดอร์จากค่าย Foodpanda นายสมยศ ปิงจุลัด ซึ่งรับงานส่งอาหารพาร์ทไทม์หลังเลิกจากงานประจำ กล่าวว่า หากมีการปรับลดค่า GP เชื่อว่าจะต้องผลกระทบต่อไรเดอร์ทั้งกลุ่มที่ทำเป็นงานประจำและพาร์ทไทม์ ทุกวันนี้ไรเดอร์ฟู้ดแพนด้ามีรายได้ต่อรอบการส่งอาหารสูงสูดที่ 48 บาทและต่ำสุดที่ 30 บาท ขณะที่ต้นทุนค่าน้ำมันก็สูงขึ้นตลอดเวลา หากรัฐประกาศลดค่า GP และบริษัทฯ ต้องลดค่ารอบของไรเดอร์ลงอีก เราคงต้องมองหาทางรอดอื่่น ถ้าไม่ย้ายไปค่ายอื่นที่ให้ค่าตอบแทนดีกว่า ก็อาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย

        ในส่วนของผู้ใช้บริการ นางสาวศิรินทร์รัตน์ จันทะมาต พิธีกรรายการเปิดสนามข่าวเศรษฐกิจ คลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 97 เพื่อความรู้และสาระบันเทิง กล่าวว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเกิดความกังวลใจว่า อาหารที่สั่งผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรีจะมีราคาแพงขึ้น หรือผู้บริโภคอาจได้รับสินค้าในปริมาณที่ลดลง เพราะจากประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลขึ้นอัตราภาษีหรือควบคุมราคาสินค้าเมื่อใด ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นทันที

        “อย่างราคาไข่ไก่ปัจจุบันแผงใหญ่ 30 ฟอง กรมการค้าภายในบอกว่าไม่แพง เพราะให้สัมภาษณ์เฉพาะข้อมูลที่ต้องการนำเสนอคือ ราคาไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 100 – 110 บาท ซึ่งเป็นไข่ไก่เบอร์ที่ไม่ได้รับความนิยมในท้องตลาด โดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่ง ขณะที่ราคาไข่ไก่เบอร์ 2 นิยมมากกว่ามีราคาขายแผงละ 120 บาท จากเดิมแผงละ 100 กว่าบาทเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรเข้าไปควบคุมหรือกำกับดูแลสินค้าจนกลายเป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชน แต่ควรให้การสนับสนุนร้านอาหาร รวมถึงผู้ให้บริการ ตอนนี้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนหลายด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรายได้ลดลง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพง ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตถีบตัวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยมีต้นทุนชีวิตสูงกว่าปกติอยู่แล้ว จึงไม่ควรซ้ำเติมใดๆ ทั้งสิ้นในช่วงนี้”

        ด้าน นางสาวกีรตยา กำลังมาก เจ้าหน้าที่สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีทุกสัปดาห์ กล่าวว่า ค่า GP ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสั่งซื้ออาหารของตนมากนัก เนื่องจากปกติผู้บริโภคจะพิจารณาจากโปรโมชันของร้านเป็นหลัก เช่น ส่วนลดค่าอาหารหรือส่วนลดค่าส่ง ควบคู่กับระยะทางในการจัดส่ง โดยปกติตนจะเลือกสั่งอาหารจากร้านที่มีราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะปรับลดค่า GP  เพราะนอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย ยิ่งถ้าต้องถูกลดค่ารอบ อาจทำให้ไรเดอร์หยุดให้บริการหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน แบบนี้ผู้บริโภคอาจต้องรออาหารนานขึ้น หรืออาจต้องเสียค่าบริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ไรเดอร์จัดส่งอาหารให้เร็วขึ้น.


คลิปวิดีโอ