วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 05:57น.

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ส่งต่อคุณค่าขยะอินทรีย์อบแห้ง สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนชุมชน

6 ตุลาคม 2023

        ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สานต่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ส่งต่อคุณค่าขยะอินทรีย์อบแห้งกว่า 10,000 กิโลกรัม สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

        การส่งมอบขยะอินทรีย์อบแห้งในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สส. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการนำขยะอินทรีย์อบแห้งภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ผ่านกระบวนการแปรรูป แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

        ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จํากัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า “ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความยินดีที่ได้สานต่อข้อตกลงร่วมกับ สส. ในการส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการขยะอาหาร จากการจัดอิเวนต์ โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้สร้างคุณค่าให้กับเศษอาหาร โดยนำกลับมาหมุนเวียน ทำเป็นขยะอินทรีย์อบแห้ง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งต่อสู่ชุมชนในการนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ ทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ และพืชผัก และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนควบคู่ไปกับการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากขยะ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมต่อไป”

        “ระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้นำขยะอาหารมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งศูนย์ฯ สิริกิติ์สามารถส่งต่อขยะอบแห้งให้กับสส. และวิสาหกิจชุมชนกว่า 10,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดการหมุนเวียน และลดของเสีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนนำไปสู่การไม่มีของเสีย เป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงยังช่วยลดขยะอาหารของศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ถึง 55,797 กิโลกรัม เทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 15,686 ต้นต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 141,174 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (kgCO2e/yr)”

        ปัญญา วรเพชรายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ทางกรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายขององค์กรสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ว่าด้วยเรื่องของขยะอาหารที่ขอให้แต่ละประเทศร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่กรมฯ และศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ดำเนินความร่วมมือสอดรับกับนโยบายของ UN ในการลดขยะอาหารเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


คลิปวิดีโอ