จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และภาคธุรกิจประกันภัยได้เร่งตรวจสอบและประเมินความเสียหาย พบว่ามูลค่าความเสียหายที่ทำประกันภัยรวมกว่า 420 ล้านบาท เป็นรถยนต์ที่เสียหายประมาณการค่าสินไหมทดแทน 408 ล้านบาท บ้านที่อยู่อาศัย อาคาร ร้านค้า เสียหาย 865 หลังคาเรือน ประมาณการค่าสินไหมทดแทนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และข้าวนาปีที่ทำประกันภัย เสียหาย 126,104 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินค่าสินไหมทดแทน
เพื่อเตรียมแผนรับมือการเกิดเหตุอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมการค้าผู้สำรวจและประเมินวินาศภัยไทย จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการด้านการประกันภัยเพื่อบริหารจัดการและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ” (Insurance Center for Disaster Management and Co-operation : ICD) เพื่อเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือ และมาตรการรองรับความเสี่ยงจากอุทกภัย ที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหาย โดยเร่งออก 2 มาตรการ คือ
1.มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยในเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ได้แก่ การผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย หรือยกเว้นดอกเบี้ยในกรณีเงื่อนไขกรมธรรม์ที่มีการคิดดอกเบี้ย การผ่อนผันเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยการผ่อนผันการเก็บเบี้ยประกันภัยและการชำระเบี้ยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยผ่อนผันให้การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สามารถแสดงหลักฐานและเอกสารประกอบเป็นภาพถ่ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย และบันทึกรายการทรัพย์สินที่เสียหายได้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ซึ่งมาตรการข้างต้นเป็นช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยกำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนผัน ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
2.มาตรการการผ่อนผันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของตัวแทนและนายหน้าประกันภัยผู้ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตที่ได้ประสบอุทกภัย ทำให้ไม่สามารถเข้ารับการอบรมและต่ออายุใบอนุญาต สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาต่ออายุพร้อมเอกสารหลักฐานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สถานการณ์กลับสู่ปกติ แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2567
ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวจะออกมาเพื่อช่วยประชาชนได้เร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการประกันภัย และการจัดการภัยพิบัติให้สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรม ได้แก่ การบรรยายและเสวนา “สร้างการตระหนักรู้เพื่อรับมืออุทกภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน” ในวันที่ 4 ตุลาคม 2567
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์น้ำท่วมรอบนี้ สำนักงาน คปภ. ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ Insurance Bureau System (IBS) ซึ่งทำให้เห็นว่าพื้นที่น้ำท่วมจุดไหนบ้างที่มีประกันภัยทรัพย์สิน หรือโซนตำบล อำเภอไหนที่มีบ้านเรือน โรงงานที่ทำประกันภัยคุ้มครองภัยน้ำท่วม โดยข้อมูลนี้จะช่วยให้บริษัทประกันภัยลงพื้นที่จัดการค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สำนักงาน คปภ. ใช้ระบบข้อมูลมาบริหารจัดการภัยพิบัติร่วมกับภาคธุรกิจ
สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองในความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว และภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทา และแบ่งเบาภาระทางการเงินของประชาชนในเบื้องต้นเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการประกันภัยเพิ่มเติมได้จากบริษัทประกันภัย สายด่วน คปภ. หรือศึกษาข้อมูลได้ที่ www.oic.or.th