วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 00:51น.

คลังเล็งยกเครื่องกฎหมายประกันภัยอุดช่องโหว่

20 ธันวาคม 2023

        “จุลพันธ์” เล็งหารือนายกฯทบทวนบทบาท คปภ. ยกเครื่องกฎหมายอุดช่องโหว่ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ ให้สอดคล้อง-ทันสถานการณ์ เรียกความเชื่อมั่น

        นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด ที่ถูกสำนักงานคณะกรรม การกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระงับการทำธุรกรรมนั้น ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุด คปภ.ได้เข้าไปดูแลเรียบร้อยแล้ว และจะมีการรายงานความคืบหน้าให้กระทรวงการคลังรับทราบต่อไป 

        “คปภ.สั่งหยุดทำธุรกิจ เพราะแผนฟื้นฟูฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ คปภ.จึงสั่งระงับการทำธุรกรรม ยืนยันว่า ไม่ใช่การปิดกิจการ โดยประเมินว่า มีลูกค้าที่ทำประกัน “เจอ จ่าย จบ” มีวงเงินความเสียหายที่จ่ายประชาชน 30,000 ล้านบาท และมีอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นประกันประเภทอื่นๆ ซึ่งสามารถโอนย้ายประกันไปยังบริษัทอื่นได้”   

        นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้กำกับดูแล คปภ.โดยตรง แต่รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกัน จึงจะนำปัญหาของธุรกิจประกันไปหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีข้อสั่งการในการดำเนินการ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ทำประกันทั้งระบบ

        โดยเฉพาะกรณี “เจอ จ่าย จบ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 มีประชาชนร้องเรียนว่า ยังไม่ได้รับเงินจากบริษัทที่ถูกสั่งปิดรวม 4 บริษัท มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านบาทนั้น คปภ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อจ่ายค่าประกันให้กับผู้ทำประกันโควิด แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คปภ. ประกอบกับเงินกองทุนประกันวินาศภัย ขณะนี้ มีเพียง 6,000 ล้านบาท มีเงินไหลเข้ากองทุนจากสมาชิก ปีละ 600-700 ล้านบาท จากการจัดเก็บเงินสบกองทุน 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทรับมาแต่ละปีซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจ่ายเงินประกันโควิด ขณะที่ คปภ.ได้เสนอทางออกด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพิ่มเงินสมทบกองทุนเต็มเพดาน 2.50% จากเดิม 0.5% แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา 

        “การเพิ่มเงินสะสมเข้ากองทุนฯ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะบริษัทที่จ่ายเงินสะสมกองทุนฯ ไม่ใช่บริษัทที่สร้างปัญหา จึงกลายเป็นภาระที่หนักมาก ส่วนบริษัทที่มีปัญหานั้น ปิดกิจกรรมไปหมดแล้ว” 

       อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ ตนหารือนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย พร้อมหาทบทวนบทบาทของ คปภ.ว่าจะปรับแก้ไขแนวทางการกำกับให้สอดคล้องและทันสถานการณ์ มีช่องโหว่ และประเด็นใด ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เพื่อให้การส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ทำประกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

        ทั้งนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินสมทบเงินกองทุนประกันวินาศภัยอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ2567 ได้จัดสรรเงินงบประมาณให้ 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเคลมประกันคงค้างนั้น เนื่องจากกองทุนฯ มีเงินเพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น และตั้งงบจ่ายให้โควิดเพียง 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าความเสียหายทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจประกันทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ทำประกัน

        สำหรับบริษัทประกันทั้ง 4 แห่งที่ถูกสั่งปิดกิจการประกอบด้วย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950, บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด 


คลิปวิดีโอ