วันอาทิตย์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 00:03น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

14 กุมภาพันธ์ 2025

        นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.61-33.94 บาทต่อดอลลาร์) แม้เงินบาทจะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ทดสอบโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า เงินบาทก็ทยอยพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs ที่อาจจะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวในทันที จนกว่าจะถึงช่วงเดือนเมษายน ที่ผลการศึกษาของทางการสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าวจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความหวังว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ อาจจบลงได้ในปีนี้ ขณะเดียวกัน การทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเช่นกัน

        บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังทยอยคลายกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่สุดท้ายอาจยังไม่ได้รีบขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs ในทันที ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.04%

       ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.09% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงความหวังว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้ออาจสิ้นสุดลงได้ในปีนี้ นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ Reciprocal Tariffs ในทันที ก็มีส่วนช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป

       ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่โซน 4.53% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็น 30% ตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่าง Reciprocal Tariffs ที่อาจยังไม่ได้ดำเนินการในทันที และอาจเปิดโอกาสให้มีการเจรจาระหว่างคู่ค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ได้บ้าง ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และอาจยังทำให้เฟดสามารถทยอยเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ตามที่เฟดประเมินไว้

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Down แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่สุดท้ายเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของบรรดสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) จากความหวังว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจยุติลงได้ในปีนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะยังไม่ได้ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ “Reciprocal Tariffs” ในทันที ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 107.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.0-107.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือครองทองคำ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวสูงขึ้น สู่โซน 2,950-2,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

        สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนมกราคม

       ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 ที่ผ่านมา

        นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ 

         สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า แนวโน้มการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ทำให้ เราปรับมุมมองระยะสั้นใหม่ว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน และมีโอกาสที่เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ จนกว่าจะเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาท จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ เราประเมินว่า ในช่วงนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะสามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าขึ้นผ่านโซนดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ต้องปรับลดสถานะดังกล่าว หรือ Cover Short ซึ่งอาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ และหากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดังกล่าว จะสะท้อนว่า แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจยังดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจะมีโซนแนวรับถัดไปในช่วง 33.30 บาทต่อดอลลาร์

        อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องระวังและติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด โดยต้องติดตามประเด็นความกังวลในตลาดการเงิน เช่น แนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มราคาทองคำได้

        อนึ่ง เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว +0.30%/-0.20% ได้ภายในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

         ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.85 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

 


คลิปวิดีโอ