นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.06 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันหยุดของสถาบันการเงินในไทย (แกว่งตัวในกรอบ 33.90-34.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงหนัก อย่างรวดเร็ว จนทะลุโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ออกมาสูงกว่าคาดที่ระดับ 3.0% (+0.5%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.3% (+0.4%m/m) สูงกว่าคาดเช่นกัน ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจยิ่งชะลอการลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง หรือ 50bps เหลือราว 15% จากที่ให้โอกาสราว 40% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกดดันราคาทองคำและเงินบาท ทว่า เงินบาทกลับสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หลังราคาทองคำพลิกกลับมารีบาวด์สูงขึ้น หนุนโดยความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทำให้โดยรวมเงินบาทสามารถทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง
แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาสูงกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ บางส่วน อาทิ Tesla +2.4%, Apple +1.8% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.27%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.11% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสที่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากฝั่งยุโรป
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเร็วและแรง สู่โซน 4.66% หลังผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ ได้น้อยกว่า 2 ครั้งที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทั้งนี้ บรรยากาศระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด รวมถึงความกังวลแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวด้วยเช่นกัน ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างเข้าใกล้โซน 4.60%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง ในกรอบ Sideways แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จากรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด รวมถึงการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 107.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.6-108.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) จะเผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า ความต้องการถือครองทองคำ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำ สามารถรีบาวด์สูงขึ้น กลับสู่โซน 2,930-2,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนมกราคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้รับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 ที่ผ่านมา รวมถึงรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนธันวาคม
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีความเสี่ยงกลับมาเป็นแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก ตามกลยุทธ์ Trend Following หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หลังราคาทองคำพลิกกลับมารีบาวด์สูงขึ้น ทำให้ เงินบาทอาจยังไม่ได้กลับไปอ่อนค่าได้ ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ และเป็นปัจจัยที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเรามองว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันบรรดาสกุลเงินเอเชียให้อ่อนค่าลงได้พอสมควร ทว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก หากสุดท้ายราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ทำให้ต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) อย่าง การเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำรัสเซีย รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่จะสามารถเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ ได้ ในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดเลิกกังวลประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ หรือ กลับมาเชื่อมากขึ้นว่า เฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยและอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะข้อมูลฝั่งตลาดแรงงานและข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.15 บาท/ดอลลาร์