นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.82-33.97 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ดังจะเห็นได้จากการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงหนุนความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) ทะลุโซน 2,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็พอช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการทยอยรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +2.9% ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ก็มีส่วนช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.67%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.58% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มธีม AI/Semiconductor ก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง อาทิ ASML +2.0% ทว่าการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกจำกัด จากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 4.50% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ การแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนฯ ของประธานเฟด ก่อนที่จะปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งนี้ เรายังคงมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในสัปดาห์นี้ โดยเราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Up ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ต่างอ่อนค่าลง ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.1-108.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความต้องการถือครองทองคำ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์แถวโซน 2,940-2,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด บรรดาผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 55% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 86% ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง หรือ 25bps ในปีหน้า
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลางหลักเช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 54% ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง หรือ 100bps ส่วน BOE ยังมีโอกาสราว 58% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง หรือ 75bps หลังทั้งสองธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ย 25bps ในการประชุมช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงกลับมาเป็นแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก ตามกลยุทธ์ Trend Following หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน (สอดคล้องกับมุมมองล่าสุดของเราในบทวิเคราะห์เงินบาทเดือนกุมภาพันธ์ในวันก่อนหน้า) ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่สุดท้ายจะกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หากราคาทองคำเริ่มย่อตัวลงบ้าง ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่า ในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะย่อตัวลงได้ไม่ยากในช่วงระยะสั้นนี้ หลัง RSI ได้เข้าสู่โซน Overbought มาอย่างต่อเนื่อง
หากเงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านถัดไปช่วง 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก แต่หากเงินบาทยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านได้ ก็อาจมีแนวรับแถวโซน 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ และยังคงมีโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวรับสำคัญในช่วงนี้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์