วันศุกร์ ที่ 10 มกราคม 2568 16:09น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

10 มกราคม 2025

       นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.54-34.64 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่เข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถวโซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงค่ำวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย (โดยเฉพาะ Michelle Bowman และ Jeffrey Schmid) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็มีส่วนหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันค่าเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนหลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นกว่า +1.2% ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบได้

       แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันพฤหัสฯ เพื่อไว้อาลัยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ทว่า หากประเมินจากการเคลื่อนไหวของสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ปรับตัวลดลงเกิน -0.5% อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทั้งการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 และการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

       ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.42% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +1.7% รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หลังราคาน้ำมันดิบและแร่โลหะต่างปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Rio Tinto +1.8%, Shell +1.3% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0

       ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวลดลงใกล้โซน 4.64% ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 4.68% หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย และบางส่วนก็มองว่า นโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันอาจไม่ได้อยู่ในระดับตึงตัวอย่างที่คิด อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงถูกจำกัดอยู่บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย

       ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้จะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ แต่เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุน ตามการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงและแกว่งตัวเหนือโซน 158 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 109.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 109-109.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ยังคงหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

       สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 72% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้

       สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทจะเผชิญความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งอาจชี้ชะตาแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไปได้ โดยจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยในกรณีที่ เงินบาททยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ สอดคล้องกับสัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า แต่หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ก็อาจทำให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาท (USDTHB) จะกลับมาแกว่งตัวในลักษณะ Sideways หรือมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down ได้

       ในช่วงระหว่างวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังเป็นการทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ ทั้งนี้ เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หรือยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่านั้น จะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำด้วยเช่นกัน หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำก็เสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ด้วยเช่นกัน โดยเรามองว่า ราคาทองคำอาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

        ในกรณีที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาดเล็กน้อย เช่น ยอดการจ้างงานฯ เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ถึง 1.6 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวแถว 4.2% หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 4.3% เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพิ่มเติมบ้าง จากราว 72% ล่าสุด เป็น มากกว่า 80% ได้ กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท ทว่าเงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก โดยอาจะยังติดโซน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์

        แต่หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานฯ เพิ่มขึ้น เกิน 2.5 แสนตำแหน่ง อย่างที่นักวิเคราะห์ของทาง Bloomberg Economics ประเมินไว้ ส่วนอัตราการว่างงานอาจทรงตัว หรือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลมากขึ้น ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทดสอบโซนแนวต้าน 4.75% ได้ไม่ยาก กดดันราคาทองคำและค่าเงินบาทได้พอสมควร โดยในกรณีนี้ อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้

        ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

       มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)


คลิปวิดีโอ