เคหะสุขประชา รุดหน้าสร้างอาชีพโครงการร่มเกล้า ทุ่มงบ 70 ล้าน สร้าง “เคมอลล์@ร่มเกล้า” คอมมูนิตี้มอลล์ที่ทันสมัยและครบวงจร บนพื้นที่รวมกว่า 7 ไร่ วางเป้าหมายรองรับผู้ใช้บริการกว่า 70,000 คน เดินหน้าดึงร้านดังเช่าพื้นที่สร้างงานผู้อยู่อาศัยในโครงการและชุมชนใกล้เคียง นำพาเศรษฐกิจ-ความทันสมัยและคุณภาพชีวิตที่ดีมาสู่ชุมชน คาดแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการ ต้นปี 2567
นายพิษณุพร อุทกภาชน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากการที่บริษัทได้มีการเปิด “สุขประชามาร์เก็ต ฉลองกรุง” ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัท ได้เดินหน้าต่อเพื่อรองรับการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่ผู้เช่าบ้าน “เคหะสุขประชา ร่มเกล้า” ด้วยการเริ่มก่อสร้าง “เคมอลล์@ร่มเกล้า” ซึ่งเป็นทำเลติดชุมชนขนาดใหญ่และจัดสรรเป็นอาชีพด้านศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง หรือมินิมอลล์ โดยมีการใช้งบลงทุนกว่า 70 ล้านบาท บนพื้นที่เช่าจากการเคหะแห่งชาติ รวมประมาณ 7 ไร่
“พื้นที่โครงการเคหะสุขประชา ร่มเกล้า มีจุดแข็งจากการตั้งอยู่ในทำเลอยู่อาศัยขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ของศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง หรือ “เคมอลล์@ร่มเกล้า” อยู่ติดกับโครงการเอื้ออาทรร่มเกล้า 2 ซึ่งมีที่อยู่อาศัยกว่า 6,000 หน่วย ถัดไปจะเป็นโครงการเคหะร่มเกล้า ที่มีอีกกว่า 10,000 หน่วย ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่ของโครงการเคหะสุขประชาและชุมชนอื่น ๆ ละแวกใกล้เคียง จะมีครัวเรือนอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 20,000 หน่วย หรือนับเป็นชุมชนกว่า 70,000 คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการใช้บริการมินิมอลล์แห่งนี้”
สำหรับโครงการ “เคมอลล์@ร่มเกล้า” จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี และคาดว่าแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2567 โดยสร้างเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง 2 ชั้น รวม 7 อาคาร พื้นที่ชั้นล่างจัดวางเป็นร้านค้าพื้นที่ใช้งาน 207 ตร.ม./อาคาร หรือรวม 1,449 ตร.ม. พื้นที่ชั้นบนจัดวางเป็นสำนักงาน โรงเรียนกวดวิชา และอื่น ๆ พื้นที่ใช้งาน 226 ตร.ม./อาคาร หรือรวม 1,582 ตร.ม. ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่อเนกประสงค์อื่น ๆ จะทำให้มีพื้นที่เป็น 555 ตร.ม./อาคาร หรือรวมทั้งหมด 3,885 ตร.ม. พร้อมมีที่จอดรถได้ 200 คัน
นายพิษณุพร ให้ข้อมูลเสริมเพิ่มว่า คอนเซปต์หลักของ “เคมอลล์@ร่มเกล้า” คือการสร้างพื้นที่ให้ผู้อยู่อาศัยทั้ง 270 หน่วยในเคหะสุขประชา ร่มเกล้า สามารถ “เดินไปทำงานได้” โดยบริษัทได้ร่วมมือให้พื้นที่เช่ากับร้านค้าที่มีชื่อเสียง ในการจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ จัดตั้งสำนักงาน หรืออื่น ๆ และต้องจ้างงานผู้อยู่อาศัยในโครงการ อีกทั้งหากมินิมอลล์มีการเติบโตมากขึ้น จะทำให้ปริมาณการจ้างงานมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีไปถึงการจ้างงานในชุมชนใกล้เคียงอย่างเอื้ออาทรร่มเกล้าหรือเคหะร่มเกล้าอีกด้วย
“การสร้าง “เคมอลล์@ร่มเกล้า” ถือเป็นการสร้างอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยต่อยอดในการนำเอาเศรษฐกิจและความทันสมัยมาสู่ชุมชนของเคหะสุขประชา พร้อม ๆ กับช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีที่อยู่อาศัยและรายได้ที่มั่นคง”