ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ในการนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2564 โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัท เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไข ที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว
เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายตรวจสอบ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ ดร. อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ นำคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อควบคุมและให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศนายทะเบียนกำหนด ซึ่งการเข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งหยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่ เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ หรือเป็นการจ่ายเงินตามที่ได้รับความเห็นชอบ จากนายทะเบียนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศนายทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดการจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน ในกรณีดังนี้
- การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ
- การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัย
- การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
- การจ่ายค่าสื่อสาร เช่น ค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
- การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด
- การจ่ายเงินตามคำสั่งศาล เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
- การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด
- การจ่ายเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท
โดยการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่จำเป็นนอกเหนือจากนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน โดยมีเหตุผลความจำเป็นพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย โดยให้บริษัทแยกประเภทตามแบบกรมธรรม์และพิจารณาจากลำดับการยื่นเรื่องเข้ามา หากพบว่ารายใดมีเอกสารครบถ้วนก็จะเร่งดำเนินการอนุมัติการจ่ายและแจ้งให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว เบื้องต้นเคลมที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่มากจะเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ ส่วนเรื่องที่เอกสารไม่ครบถ้วนจะเร่งให้บริษัทประสานผู้เอาประกันภัยเพื่อนำส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยเร็ว
“การออกประกาศนายทะเบียนดังกล่าว เป็นการรองรับและมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ดังนั้น ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่จะมีการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในทุกมาตรการอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ และขอให้มั่นใจในระบบประกันภัยว่าสามารถเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ในทุกสถานการณ์ และทุกมิติของความเสี่ยงภัย แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th”