วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 07:26น.

เปิดสูตรบริหารการเงิน พาร้านรอดวิกฤตสไตล์ ‘เล้งหน่อย’ ร้านเล้งรสเเซ่บแห่งบางซ่อน

13 ธันวาคม 2022

        การก้าวเข้าสู่สังเวียนธุรกิจร้านอาหารอาจไม่ใช่เรื่องยากเกินฝันในปัจจุบัน ด้วยโอกาสมากมายในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการมีตัวช่วยอย่างแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ถือป็นอีกช่องทางที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และส่งผลให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ซึ่งไม่ว่าร้านอาหารจะเล็กหรือใหญ่ ระบบการเงินที่ดีและการมีเงินทุนสำรองถือเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสภาพคล่องแม้จะต้องเจอกับสถานการณ์

        ที่ท้าทายเข้ามาก็ตาม เฉกเช่นร้านอาหารขนาดร้านเล็กอย่าง “เล้งหน่อย” ร้านเล้งรสเด็ดโซนบางซ่อนที่ผ่านประสบการณ์ทั้งยุคเบ่งบานที่มีลูกค้าเข้าร้านไม่ขาดสาย จนถึงยุคที่เกือบจะต้องปิดกิจการเพราะวิกฤติโควิด-19

        แต่ด้วยแนวคิดการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้ร้านรอดวิกฤติมาได้และกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ร้านแห่งการสานฝันเพื่อครอบครัว

        นันทาวลัย ปิญชาน์วรรณ หรือ นุ่น เจ้าของร้าน ‘เล้งหน่อย’ ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของร้านด้วยเเววตาที่เปี่ยมความมั่นใจว่า “เล้งหน่อยเกิดจากความตั้งใจที่นุ่นอยากเปิดร้านอาหารเพื่อให้พ่อและแม่มีอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงกว่างานเดิมที่เขาเคยทำ คือขายของเก่าและเย็บผ้า ประกอบกับทั้งพ่อและแม่ชอบทำอาหารมาก นุ่นเลยอยากให้พวกเขามีงานที่ได้ช่วยกันทำสองคนแบบไม่เหงา เวลาที่เราออกไปทำงานประจำนุ่นทำงานเป็น Content Creator จึงทำงานอยู่กับข้อมูลเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับผู้อ่านหรือผู้ชม  นุ่นเลยนำประสบการณ์ตรงนี้มาปรับใช้กับธุรกิจครอบครัวด้วยการหาข้อมูลว่าคนไทยชอบกินเมนูไหนเป็นประจำบ้าง จนสุดท้ายก็สรุปว่าเป็นเมนูเล้งเพราะเป็นเมนูที่สามารถทานได้ทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น เราสามคนเลยตกลงร่วมกันว่าจะเปิดร้านเล้ง โดยชื่อร้านเล้งหน่อยก็นำชื่อเล่นคุณแม่มาตั้งให้เป็นเอกลักษณ์ จนตอนนี้ร้านเราก็เปิดมาได้ 4 ปีกว่าแล้ว”

รู้ว่าใครคือกลุ่มลูกค้า แล้วเราจะไม่โฟกัสผิดจุด

        ใครที่เคยแวะมาทานอาหารที่หน้าร้านเล้งหน่อยอาจรู้สึกแปลกใจในครั้งแรก เพราะด้วยตำแหน่งที่ตั้งของร้านที่อยู่ใต้โครงการรีเจ้นท์ โฮม บางซ่อน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยแบบคอนโดขนาดใหญ่หลายยูนิต ทำให้เมื่อมองจากภายนอกอาจไม่รู้ว่ามีร้านอาหารรสเด็ดซ่อนตัวอยู่ในนี้

        “ร้านเล้งหน่อยเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่โครงการนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ เพราะทั้งครอบครัวเราพักอยู่ที่นี่อยู่แล้ว พอเห็นว่าใต้คอนโดมีพื้นที่ให้เช่าสำหรับค้าขาย นุ่นก็ไม่รอช้าที่จะติดต่อขอเช่าที่เพื่อเปิดร้านขายอาหาร ด้วยข้อดีที่เรามองเห็นในตอนนั้นคือโครงการนี้มีจำนวนยูนิตสูงถึง 4,000 ยูนิต ถ้าคิดแบบง่ายๆ แค่มีคนอยู่ 1 คนต่อ 1 ยูนิตก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสขายอาหารให้คนได้ถึง 4,000 คน เราเลยโฟกัสกับการขายอาหารให้กับคนในโครงการโดยเฉพาะ ซึ่งช่วงเเรกที่เปิดร้านเราขายดีมาก ด้วยคอนเซ็ปต์การตั้งราคาแบบถือเงินมา 100 บาทก็มีทอนกลับบ้าน บวกกับบริเวณรอบๆ ในตอนนั้นไม่มีร้านเล้งเปิดเป็นคู่เเข่ง ทำให้เราเป็นเป้าหมายของลูกค้าที่อยากซื้ออาหารปรุงสดที่สามารถกินได้คนเดียวและแบบครอบครัว จุดนี้นุ่นมองว่าถ้าเรารู้ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือใคร เราจะสามารถเข้าถึงความต้องการของพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น”

แค่เปิดใจ โอกาสใหม่ๆ ก็จะเข้ามา

        เส้นทางธุรกิจของร้านเล้งหน่อยดูจะไปได้สวยเพราะเลือกโฟกัสกลุ่มลูกค้าได้ถูกจุด บวกกับรสชาติของเล้งเนื้อนุ่มที่ต้มจนเปื่อย เคี่ยวกับน้ำซุปกระดูกหมูแสนอร่อยซดคล่องคอที่ได้ความแซ่บของพริกสดและน้ำมะนาวคุณภาพดี ทำให้เมนูเล้งของร้านนี้เป็นเมนูชูโรงให้ลูกค้ากลับมากินซ้ำอย่างต่อเนื่อง และการเปิดเมนูใหม่ๆ อย่างก๋วยเตี๋ยวเล้งเเซ่บ กุ้งแช่น้ำปลา หอยนางรมทรงเครื่อง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำ แต่เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านต้องเดินมาถึงทางแยกว่าจะสู้ต่อ หรือยอมถอย

       “ช่วงที่โควิดเข้ามาในไทยมันเหมือนเราเดินอยู่ดีๆ ก็เจอฟ้าผ่าลงมาตรงหน้า จากเดิมที่เคยขายกระดูกหมูได้วันละเกือบ 70 กิโลกรัม ก็ลดลงไปเกินครึ่งเพราะต้องปิดให้บริการหน้าร้าน ลูกค้าจึงไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ จากเดิมที่ไม่เคยคิดจะเข้าร่วมฟู้ดเดลิเวอรี่มาก่อน  เราเลยต้องเปลี่ยนแผนการขายใหม่ เริ่มจากเปิดใจเข้าร่วมแกร็บฟู้ดก่อนเลยอันดับแรก ยอดขายจึงเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่เราก็ยังต้องการเงินทุนมาหมุนเพื่อให้ร้านไปต่อได้ จังหวะดีที่แกร็บเสนอสินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารมาให้ที่ยอด 90,000 บาท ยอมรับว่าช่วงเเรกเรายังไม่ตัดสินใจขอกู้ เพราะเกิดมานุ่นยังไม่เคยกู้เงินที่ไหนมาก่อนเลย แต่เพราะเราต้องทำให้ร้านที่เป็นเหมือนความฝันของพ่อกับแม่ยังไปต่อได้ในขณะที่หลายธุรกิจกำลังล้ม นุ่นเลยตัดสินใจกู้มาก่อน 50,000 บาท ถือเป็นเงินกู้ก้อนแรกในชีวิตและถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีเพราะเราได้นำเงินก้อนนั้นมาใช้กับร้านทั้งหมด”

รู้(เงิน)เขา รู้(เงิน)เรา

        แม้จะเจอกับวิกฤติใหญ่ แต่ร้านเล้งหน่อยก็เปลี่ยนมันเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ผ่านแกร็บฟู้ด จนทำให้กลายเป็นรายได้หลักอีก 50% ของร้านจนถึงปัจจุบัน และเมื่อลองเปิดใจขอสินเชื่อเงินกู้จากแกร็บก้อนแรกจนทำให้ร้านผ่านวิกฤติหนักๆ มาได้ นุ่นก็ยังไม่ปิดประตูโอกาสของตัวเอง ด้วยการลองขอสินเชื่อจากแกร็บเป็นครั้งที่สองด้วยยอดเงิน 45,000 บาท เพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์ทำอาหารใหม่และตกแต่งร้านในช่วงที่สามารถเปิดหน้าร้านได้แล้ว

        “ที่นุ่นตัดสินใจขอกู้เพิ่มเป็นครั้งที่สอง เพราะเราได้เรียนรู้แล้วว่าระบบการยื่นกู้ของแกร็บง่ายและสะดวกมาก เพียงแค่กรอกข้อมูลผ่านแอปให้ครบถ้วน วันรุ่งขึ้นก็มียอดเงินโอนเข้าบัญชีเรียบร้อย ตรงนี้นุ่นเข้าใจว่าเพราะแกร็บมีระบบบันทึกยอดขายของร้านที่เปรียบเสมือนเป็นเครดิตว่าเรามีรายได้เข้ามาตลอด ทำให้เรามีเครดิตที่ดีจนได้รับอนุมัติเงินได้ง่าย และที่สำคัญคือระบบการผ่อนจ่ายที่หักจากยอดขายรายวันเพียงหลักร้อยบาทก็ทำให้ร้านไม่รู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักเกินไป อย่างเงินกู้ก้อนที่สองระบบให้นุ่นผ่อนคืนแค่วันละ 271 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นยอดที่น้อยมาก ตอนหักไปเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ากระทบกับรายได้ของร้าน นุ่นมองว่าระบบนี้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าของร้านอาหารอย่างแท้จริง”

        “สุดท้ายแล้วนุ่นมองว่าไม่ว่าเราจะทำอะไร มันมีโอกาสที่สักวันหนึ่งเราต้องเจอกับอุปสรรคเข้ามาทดสอบเราแน่ๆ แต่การจะก้าวผ่านอุปสรรคนั้นๆ ไปได้ เราต้องมี Mindset ว่าเราจะมีโอกาสดีๆ ตามมาเสมอทุกครั้งที่เราเลือกทางเดินต่อ นุ่นอยากฝากให้กำลังใจเจ้าของร้านอาหารทุกคนและอยากบอกว่าถ้าเราค้นหาจุดขายของร้านเจอและเปิดใจลองใช้ตัวช่วยใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือการนำสินเชื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

        กับธุรกิจ เราก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นในโลกธุรกิจ ที่ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด” นุ่นกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความมุ่งมั่น

 

 

 


คลิปวิดีโอ