วันพฤหัสบดี ที่ 19 กันยายน 2567 09:08น.

EXIM BANK หนุนภาคเกษตร Go Green สร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำตลอด Supply Chain ยกระดับการทำนาข้าวรักษ์โลกเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

11 มิถุนายน 2024

        ภาคการเกษตรเป็นหลักของเศรษฐกิจไทยมาช้านาน และจะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นต้นทางวัตถุดิบทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคจำนวนมากอยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมหลัก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ภาคการเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีประชากรในภาคเกษตรราว 25 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชากรไทยทั้งหมด

        จากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ที่ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 และมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 18,000 มาตรการและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตและส่งออกจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการไปสู่การเกษตรเพื่อความยั่งยืน

        ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคเกษตรเองมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.7-25.23% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย โดยพืชที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของก๊าซเรือนกระจก คือ ข้าว เนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกแบบทั่วไปเป็นการทำนาเปียก เป็นการปล่อยน้ำขังในนาตลอดเวลาทำให้เกิดการจะทำให้เกิดการย่อยสลายแบบไร้อากาศของซากพืชในนาก่อให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

        ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในบทบาทของ Green Development Bank สร้าง Greenovation ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจใน Green Export Supply Chain ให้สามารถ Go Green โดยเฉพาะในด้านการเกษตรให้เป็นเกษตรรักษ์โลกที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาขึ้นไปจนสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรทั้ง Supply Chain

         กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงบทบาทของผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำและ Net Zero Emissions จึงสร้างเครือข่ายพันธมิตรขึ้นมาร่วมสร้างนวัตกรรมและพัฒนาให้รู้ว่าในธุรกิจมี Carbon Footprint อย่างไร เพื่อดูแลการปล่อยคาร์บอนขององค์กรและผู้ประกอบการไทยใน Scope 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่น ๆ จากการดำเนินงานขององค์กร) โดยเฉพาะ Scope ที่ 3 ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดและทำได้ยากที่สุดเพราะเกี่ยวข้องกับทั้งห่วงโซ่การผลิต

        “เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ธนาคารได้พัฒนา Solution ทางการเงิน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้ผู้ประกอบการได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงกับพันธมิตรสีเขียวอย่างบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เพื่อให้การสนับสนุนกับองค์กรและภาคธุรกิจของไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้กลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) และคาร์บอนเครดิต โดยหนึ่งในโครงการที่ทั้งสององค์กรจะทำร่วมกัน คือ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับโครงการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวได้ถึง 45% ผ่านการบริหารจัดการความสมดุลของปริมาณน้ำในนาข้าว ลดการใช้น้ำ และเพิ่มผลผลิต ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยได้อย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

        ทั้งนี้ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด มีเป้าสนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยให้คำปรึกษาและแนะนำกระบวนการทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพบรรลุพันธกิจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในเวทีระดับโลก

        “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการบุกเบิกที่ EXIM BANK ต้องการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้และลงมือทำจริงในการสร้างระบบนิเวศคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคเกษตรกรรมและจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และในอนาคต EXIM BANK จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ต่อไปเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอด Supply Chain การส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมากยิ่งขึ้น ที่ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ ช่วยให้ทั้งคนตัวใหญ่ คนตัวกลาง และคนตัวเล็ก สามารถจูงมือ Go Green ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

 


คลิปวิดีโอ