ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า ยุคทรัมป์ 2.0 ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะยังไปต่อได้ ปัจจัยเกื้อหนุน ประกอบด้วย การท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าตามนโยบายทรัมป์ 2.0 หนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 89% และภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่ทันในปีที่ผ่านมา
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจัยส่งเสริมให้การส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวต่อได้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ การเร่งนำเข้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แผงโซลาร์ โอกาสส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง และการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ สินค้าไทยอาจโดนมาตรการจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ สูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์ เครื่องจักร หรือถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่ม อาทิ สินค้าเกษตร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าไทยที่อยู่ใน Supply Chain จีนได้รับผลกระทบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา สินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าสู่ไทยและตลาดโลก อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ความผันผวนด้านต้นทุนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และค่าเงินที่ยังผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกยังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อมนุษย์ รวมถึงภาคธุรกิจ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น รวมถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมยังเพิ่มจำนวนขึ้นถึงกว่า 18,000 ฉบับในปัจจุบัน โดยโลกและไทยยังต้องการเม็ดเงินสีเขียว (Climate Finance) อีกจำนวนมาก Climate Policy Initiative ประเมินว่า Climate Finance โลกปี 2566 อยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าความต้องการที่ประเมินว่าสูงถึงราว 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2567-2573 เท่ากับว่าโลกยังต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นราว 5 เท่า
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา EXIM BANK มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุน Climate Finance ของไทย และ EXIM BANK จะเดินหน้าต่อยอดความเชี่ยวชาญในฐานะ Green Development Bank เป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยสยายปีกสู่ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้ Portfolio ที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 40% ของ Portfolio ทั้งหมด และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2570
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ปี 2568 EXIM BANK มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตรสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) โดยให้สิทธิประโยชน์และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังมี Credit Rating ที่ไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนสนใจและเชื่อมั่นที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทำให้ Credit Rating ของหุ้นกู้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับของ EXIM BANK คือ AAA (กรณีค้ำประกัน 100%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ผู้ออกหุ้นกู้มี Cost Saving เมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ด้วย Credit Rating ของตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถออกหุ้นกู้ได้อายุยาวขึ้นและจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงสามารถมีฐานผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันได้ นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น ปัจจุบัน EXIM BANK ได้รับความเห็นชอบเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ในอนาคต EXIM BANK จะให้บริการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจร ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกในการระดมทุนและจัดหาเงินทุนได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน EXIM BANK กำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (จัดจำหน่ายตราสารหนี้)
“EXIM BANK ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านธุรกิจและบริการที่จะนำไปสู่โมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน สอดคล้องกับทิศทางการค้าและการลงทุนในโลกปัจจุบันภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะเดียวกัน ยังเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ทันและมีการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.รักษ์ กล่าว