วันอาทิตย์ ที่ 20 ตุลาคม 2567 15:17น.

วิกฤติพลังงานสัญญาณเตือนความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในช่วง ENERGY TRANSITION

29 พฤศจิกายน 2021

        เดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็น perfect storm ของตลาดพลังงานโลก เห็นได้จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี (multi-year high) และการขาดแคลนพลังงานในบางตลาด โดยเฉพาะยุโรปและจีน โดยวิกฤติพลังงานในครั้งนี้เกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ในด้านอุปทานการหยุดชะงักที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 สภาพอากาศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศล้วนมีส่วนทำให้สต็อกของเชื้อเพลิง (inventory) ลดลง และราคาปรับขึ้นมาก

        วิกฤติพลังงานครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (energy transition) ถึงแม้ว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เติบโตขึ้น นอกจากนี้ การชะลอการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานทางผ่านไปสู่พลังงานสะอาด หรือ transition fuel (เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าถ่านหิน) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ตลาดพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นในอนาคต

        ไทยควรเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านอุปทานและด้านราคา ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลด grid emission (ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า) ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบส่งจำหน่ายและจัดการไฟฟ้า และสนับสนุนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน

        ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาราคาก๊าซธรรมชาติ[1]เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100% ตั้งแต่ต้นปี 2021 ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้นกว่า 66% ในเวลาเดียวกัน (และเพิ่มขึ้นกว่า 5.5 เท่าตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม 2020) ในขณะที่ราคาถ่านหิน[2]ขึ้นสูงที่สุดในประวัติการณ์ แม้ว่าราคาถ่านหินจะลดลงมาแล้วแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี วิกฤติพลังงานนี้ ส่งผลให้ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 20 มณฑลในจีนต้องหยุดการผลิต หรือลดการผลิตลง เนื่องจากไฟฟ้าขาดแคลน บริษัทผู้ให้บริการพลังงานแก่ผู้บริโภคในประเทศอังกฤษต้องปิดตัวไปหลายบริษัท ไฟฟ้าไม่พอใช้ในอินเดีย และบริษัทอุตสาหกรรมหลายรายในยุโรปได้ระงับการผลิตเนื่องจากราคาพลังงานสูงจนไม่คุ้มทุนเป็นต้น

        เกิดอะไรขึ้นในตลาดพลังงานโลก? ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

        1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานและการผลิตในภาคพลังงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2020 ทำให้อุปทานลดลงและยังส่งผลต่อระดับ inventory ของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินทั่วโลก ในด้านอุปสงค์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร่งตัวทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทั่วโลก

        2. สภาพอากาศ ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในการผลิตและเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความต้องการพลังงานในภาคครัวเรือน เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าในการเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อน และ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงหน้าหนาว

        3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยผลักดันราคาพลังงานให้สูงขึ้น เช่น กรณีการส่งก๊าซธรรมชาติ
จากรัสเซียเข้ายุโรปที่มีความไม่แน่นอนว่ารัสเซียจะส่งก๊าซมาให้ยุโรปเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่
โดยปัจจุบันรัสเซียส่งก๊าซผ่านท่อให้ยุโรปตามปริมาณสัญญาเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
ในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง หรือกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนและออสเตรเลีย โดยจีนหยุดการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียส่งผลให้ความต้องการถ่านหินในจีนเพิ่มสูงขึ้น และทำให้จีนต้องนำเข้าถ่านหินจากแหล่งอื่นซึ่งกระทบต่อตลาด seaborne coal ของโลก

        4. การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Energy Transition) เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมาย net zero ของประเทศและบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้การลงทุน
ในกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลมีความเสี่ยงจากกฎเกณฑ์ และข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายชะลอ หรือหยุดการลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม รวมถึงการสร้างเหมืองถ่านหินใหม่ด้วย

        บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/7961


คลิปวิดีโอ