วันศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2567 15:58น.

GDP ไทยไตรมาส 4/2021 ขยายตัวสูงกว่าคาดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศ

22 กุมภาพันธ์ 2022

        เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวถึง 1.8% QOQ sa (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) ทำให้ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตที่ 1.6% สูงกว่าคาดการณ์จากอุปสงค์สินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและส่งออกในช่วงปลายปี

        อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทยยังแตกต่างกันจากผลกระทบของโควิด ในภาพรวมปี 2021 แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้หลังจากเผชิญกับการระบาดระลอกใหญ่ในช่วงกลางปี แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแผลเป็นด้านหนี้ครัวเรือนและตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยหากพิจารณาแยกตามส่วนประกอบและภาคเศรษฐกิจพบว่า การส่งออกและการบริโภคภาครัฐสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่สูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ขณะที่กิจกรรมในภาคการเงินและการก่อสร้างกลับมาอยู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่พักและร้านอาหาร

        สำหรับปี 2022 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 3.2% ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นปัจจัยฉุดรั้งการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้ จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

        เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2021 พลิกกลับมาขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากที่หดตัว -0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 1.8%QOQ sa (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) สำหรับในภาพรวมของปี 2021 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.6% หลังจากที่หดตัวหนักถึง -6.2% ในปี 2020

        ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) การส่งออกสินค้าและการบริโภคภาครัฐขยายตัวได้ในอัตราที่สูง การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ

        การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัวที่ 0.3%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) หลังจากหดตัว -3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันใหม่ที่ลดลง ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค รวมถึงมีการใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐ โดยในไตรมาสนี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวได้ ส่วนในหมวดอื่น ๆ ถึงแม้จะยังหดตัวแต่ก็หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

        การบริโภคภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.1% เร่งตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.5% โดยขยายตัวในทุกหมวดสำคัญ โดยเฉพาะการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดที่ขยายตัว 38.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19

        การลงทุนภาครัฐพลิกกลับขยายตัว 1.7% หลังจากที่หดตัว -6.2% ในไตรมาสก่อนหน้าจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวถึง 10% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ด้านการก่อสร้างหดตัวเล็กน้อยที่ 0.7% เนื่องจากในไตรมาสนี้รัฐวิสาหกิจยังไม่มีการก่อสร้างในโครงการใหม่ มีเพียงการก่อสร้างในโครงการต่อเนื่อง

        การลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว -0.9% จากที่ขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในด้านเครื่องมือเครื่องจักรหดตัว -0.9% จากการลงทุนในหมวดยานยนต์เป็นหลัก ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ -0.9%

        มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 16.6% จากที่ขยายตัว 12% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

        มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวชะลอลงที่ 14% โดยยังขยายตัวในทุกหมวดสำคัญ ขณะที่การนำเข้าบริการขยายตัว 28.8% จากค่าบริการขนส่งที่สูงขึ้นอย่างมาก

        การส่งออกภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 30.5% จาก 14.7% ในไตรมาสก่อนหน้า จากค่าบริการขนส่งสินค้า ค่าประกอบธุรกิจอื่น ๆ และรายรับจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น

        ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือถึงแม้ว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 303,343 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรที่มีการผลิตมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้งานจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ส่งผลทำให้สินค้าคงคลังในไตรมาสนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

        ด้านการผลิต (Production Approach) ในไตรมาสนี้สามารถขยายตัวได้ทั้งในภาคการเกษตร ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคบริการ

        ภาคการเกษตรขยายตัว 0.7% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.2% โดยมียางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรดเป็นปัจจัยหนุน ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดและข้าวนาปีที่ลดลงเป็นปัจจัยฉุด

        ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 2.6% หลังจากที่หดตัว -1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.8% หลังจากที่หดตัว -0.9% ในไตรมาสก่อนหน้าตามการขยายตัวของอุปสงค์ในสินค้าจากทั้งภายในและนอกประเทศ แต่มีปัจจัยฉุดที่สำคัญจากสาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหินที่หดตัวมากถึง 13.4%

        ภาคบริการขยายตัว 1.6% เร่งตัวขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการขยายตัวในสาขาการขายส่ง และการขายปลีก การเงิน การสื่อสาร และการขนส่ง ส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารหดตัว -4.9% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ -19%

        อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8112


คลิปวิดีโอ