วันศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2567 13:27น.

พาณิชย์-DITP แนะผู้ประกอบการไทย เดินหน้าผลิตสินค้าโปรตีนจากพืช ป้อนตลาดโลก

29 ธันวาคม 2021

        กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยโปรตีนจากพืช กำลังกลายเป็นสินค้าอาหารสำหรับอนาคต ที่หลายประเทศเดินหน้าพัฒนา ล่าสุดสิงคโปร์เปิดตัวโรงงานผลิตเต็มรูปแบบขนาดใหญ่ เป็นแห่งแรก ผลิตสินค้าป้อนความต้องการ แนะผู้ประกอบการไทยใช้จุดแข็ง จากวัตถุดิบการเกษตรที่สมบูรณ์ เพิ่มนวัตกรรม พัฒนาสินค้าตามนโยบาย BCG มั่นใจเพิ่มโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น

        นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจแนวโน้มตลาดอาหารสำหรับอนาคต เพื่อสร้างโอกาสในการผลิตและการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เล็งเห็นว่าอาหารสำหรับอนาคต กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก หลายประเทศมีการวิจัย พัฒนา และเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อป้อนความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ปัจจุบันโปรตีนจากพืช (Plant-Based food) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก หลายประเทศให้การสนับสนุนการผลิตสินค้าดังกล่าว ในส่วนของไทย ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ (Bio-Circular-Green economy : BCG) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาสร้างจุดแข็งและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะไทยมีข้อได้เปรียบในด้านวัตถุดิบจากการมีผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นรสชาติอาหาร หากผู้ประกอบการมีการวิจัย พัฒนา หรือได้รับการสนับสนุนด้านดังกล่าว เชื่อว่าสินค้าโปรตีนจากพืชของไทย จะสามารถพัฒนาและแข่งขันในระดับโลกได้ และส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้นด้วย

        ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์สิงคโปร์ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุนและผลักดันการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและการเพิ่มผลผลิตอย่างมาก โดยเทมาเส็กเป็นผู้นำระดมทุนมูลค่า 270 ล้านบาท ให้กับ Growthwell Foods เพื่อจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีแบบครบวงจร ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลจากพืช และบริษัท Growthwell Foods สตาร์ทอัพของสิงคโปร์ ได้เปิดตัวโรงงานผลิตโปรตีนจากพืชแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบขนาดใหญ่แห่งแรกของสิงคโปร์ ในพื้นที่อุตสาหกรรมด้าน อาหารนวัตกรรมของสิงคโปร์ JTC Food Hub @Senoko1 โดยโรงงานดังกล่าวสามารถผลิตสินค้า อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-Based) ได้ 4,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งปริมาณดังกล่าวเพียงพอต่อความต้องการบริโภคโปรตีนของคนมากกว่า 100,000 คนต่อปี และคาดว่า ภายในต้นปี 2565 ผลิตภัณฑ์ Plant-Based ของ Growthwell Foods อาทิ ปลาแซลมอนที่ทำจากบุก (Konjac) และนักเก็ตไก่ที่ทำจากถั่วลูกไก่ จะเริ่มวางจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ Happiee! โดยราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ประมาณ 8 เหรียญ สิงคโปร์ (197.12 บาท2) ต่อโปรตีนจากพืชสำหรับ 2 มื้อ

        ในส่วนของทูตพาณิชย์เนเธอร์แลนด์ฯ รายงานว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้หารือร่วมกับธนาคารดัตช์รายใหญ่ 8 แห่ง เพื่อออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนให้กับธุรกิจนี้ โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มุ่งหวังว่าการลงทุนครั้งนี้จะทำให้โปรตีนจากพืชเข้ามามีบทบาทและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากเนื้อสัตว์มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเติบโตของตลาด Plant-based Meat ทำให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์หลายรายซื้อกิจการและขยายกิจการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการเติบโตของตลาด Plant-base Meat ได้มากขึ้น อาทิ บริษัท JBS ผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ของบราซิลได้ซื้อกิจการมูลค่า 341 ล้านยูโร ของบริษัท Vivera ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ของเนเธอร์แลนด์ บริษัท Unilever ซื้อกิจการบริษัท De Vegertarische Slager ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ของเนเธอร์แลนด์ที่ มูลค่าประมาณ 30 ล้านยูโร บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ ชื่อดังของสหรัฐฯ Beyond Meat เปิดโรงงานผลิตในเนเธอร์แลนด์ บริษัท Meatless Farm ของสหราชอาณาจักรได้ขยายกิจการที่เมือง Almere และบริษัท LiveKindly Collective ได้ซื้อกิจการบริษัท The Dutch Weed Burger ผู้ผลิตเบอร์เกอร์จากสาหร่ายของเนเธอร์แลนด์

        ด้านทูตพาณิชย์เกาหลีใต้ รายงานถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat) เข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ เพราะเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จากการเติบโตของผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติ และผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ สิทธิ์ของสัตว์ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ ผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทางเลือกจากพืชในเกาหลีใต้ ทำให้บริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ได้ก้าวเข้ามาในตลาด ทั้งแฟรนไชส์ท้องถิ่นและแบรนด์อาหารระดับโลก ได้เริ่มวางขายเมนูจากพืชเช่น Burger King และ Lotteria ได้นำเสนอเบอร์เกอร์ที่ทำจากถั่ว แทนเนื้อสัตว์ ในขณะที่ Starbucks ได้เปิดตัวบราวนี่เต้าหู้และแซนด์วิชที่ใช้แฮมจากพืช และคาเฟ่ดังอย่าง Twosome ได้ร่วมมือกับ Beyond Meat เพื่อให้บริการแซนด์วิชเนื้อจากพืช เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังมีบริษัทต่าง ๆ ที่ลงทุนเพื่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากพืช ซึ่งเป็นการผลิตเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ผลิตจากเซลล์ในห้องปฏิบัติการ บริษัทอาหารสดของเกาหลีอย่าง Pulmuone ได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ BluNalu ของสหรัฐฯ ซึ่งพัฒนาเกี่ยวกับอาหารทะเลที่ทำจากเซลล์ดังกล่าว เพื่อให้ทันกับยุคสมัย และหลายบริษัทลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก เช่น Shinsegae Food ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ทดแทนมาตั้งแต่ปี 2559 มีเป้าหมายว่าจะต้องเข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์ทางเลือก

        นายภูสิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช เป็นโอกาสใหม่ของ SMEs ทั่วโลก เนื่องจากเป็นเทรนด์อาหารสำหรับอนาคต ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปิดใจทดลองสินค้าแบรนด์ใหม่ โดยข้อมูลของ Euromonitor และ Allied Market Research ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 มูลค่าตลาด Plant-Based Food ทั่วโลกอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (4.8 แสนล้านบาท) และคาดว่าในปี พ.ศ. 2567 มูลค่า ตลาดจะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (7.5 แสนล้านบาท) โดยเติบโตเฉลี่ย 10.5% ต่อปี ขณะที่ตลาด Plant-Based Food ของไทย ในปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 มูลค่า ตลาดจะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี


คลิปวิดีโอ