วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 11:43น.

“เอ-เมส มัลติสโตร์ เปิดตัวโครงการ “A’MAZE GREEN SOCIETY” เดินหน้าลดขยะจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นศูนย์”

18 พฤษภาคม 2023

        เอ-เมส มัลติสโตร์ โดย บูติคนิวซิตี้ เดินหน้าเปิดตัวโครงการ “A’MAZE GREEN SOCIETY” ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตร ในการนำผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรม 20% มาสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ (Fabric Zero Waste Alliance) และ  ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน (Green Industry )ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจโลกที่ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero)

        นางประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บูติคนิวซิตี้ นอกจากจะมุ่งเน้นการผลิตเครื่องแต่งกายที่สวยงามและมีความคงทนแล้ว เรายังมีแนวคิดในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยสนับสนุนให้ใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของทุกอุตสาหกรรมและยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเฉพาะการนำ “ขยะ” ที่เหลือจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

        จึงเป็นที่มาของโครงการ A’MAZE green society by BTNC: Create your own happiness ภายใต้ค่านิยมองค์กร ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเอง พร้อมแบ่งปันความสุขให้ลูกค้า เพื่อนร่วมงานและสังคม” โดยมีเป้าหมายในการร่วมมือกับพันธมิตร และคู่ค้า ในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Industry ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศร่วมพันธกิจโลก ภายหลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

        โดยเราพบว่า ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้านั้น จะได้ชิ้นงานหรือสินค้าประมาณ 80% ที่เหลืออีก 20% จะเป็นผ้าส่วนเกินที่เหลือจากการผลิต ทำให้เรากลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับผ้าส่วนเกินเหล่านี้ ที่จะไม่ให้เหลือเป็นขยะอุตสาหกรรม หรือ Fabric zero Waste alliance  เราจึงมองหาคู่คิด ที่จะมาช่วยทำการ upcycle หรือนำผ้าส่วนเกินมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  และ recycle คือการนำผ้าส่วนเกินเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก จึงได้ร่วมมือกับแบรนด์ “ลฤก” เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ “ระลึกรักษ์” และ เดอะ แพคเกจจิ้ง ที่ช่วยต่อยอดผ้าส่วนเกินให้กลายเป็น Mimi (มีมี่) กระเป๋ารักษ์โลก

        “เรานำแบบดอกไม้วางลงไปตรงช่องว่างของแพทเทิร์นผ้าที่จะตัดเสื้อ เพื่อทำให้เหลือผ้าส่วนเกินให้น้อยที่สุด โดยดอกไม้ที่ได้หรือคิดเป็น 15% ของผ้าส่วนเกิน มาให้แบรนด์ “ลฤก” นำมาใช้ตกแต่งเป็นดอกไม้ประดับบนพวงหรีดเสื่อ ส่วนที่เหลืออีก 5% เราส่งไปให้ เดอะแพคเกจจิ้ง นำไปผ่านขบวนการ Recycle โดยนำไปผสมทดแทนวัตถุดิบในการผลิต เพื่อนำมาผลิตเป็นกระเป๋าMimi (มีมี่)” นางประวรา เอครพานิช กล่าวเสริม

        นางสาวนนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก” เจ้าของไอเดียพวงหรีดเสื่อ กล่าวว่า “ลฤก” เป็นแบรนด์พวงหรีดที่มุ่งเน้นในเรื่องการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคม เราดำเนินธุรกิจโดยวางแนวทางการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste) พวงหรีดลฤก ประกอบด้วย เสื่อ 1 ผืน และอาสนะ 1 ชิ้น ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% และเป็นพวงหรีดที่วัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้  การร่วมกับ บูติคนิวซิตี้ ในการผลิตดอกไม้ผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของ “ระลึกรักษ์” เพื่อนำมาใช้ประดับตกแต่งพวงหรีด ซึ่งนอกจากให้ความสวยงามและเกิดคุณค่าทางจิตใจแล้ว ยังเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะปลายทางที่นำไปสู่การกำจัดอีกด้วย

        นายภุชชงค์ วนิชจักร์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะแพคเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมผลักดันขยะเหลือใช้จากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อเป็นการหยุดยั้งปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง แทนการกำจัดปัญหาขยะที่ปลายทาง โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นการนำเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตและไม่มีสิ่งปนเปื้อน กลับมาใช้ซ้ำภายในโรงงาน (Recycle) ในรูปแบบของการนำกลับมาใช้ซ้ำทั้งหมดหรือผสมกับเม็ดพลาสติกใหม่ในอัตราส่วนต่างๆ ส่งผลให้ไม่มีขยะเหลือเป็นของเสียในอุตสาหกรรม (Reduce)

        สำหรับความร่วมมือกับ บูติคนิวซิตี้ โดยการนำผ้าโพลีเอสเตอร์จากการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งเป็นผ้าส่วนเกินมาทำการรีไซเคิล โดยใช้ผสมทดแทนวัตถุดิบในการผลิตบางส่วน และพบว่าสามารถทดแทนได้ส่วนหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมา ยังอยู่ในคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดไว้ จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการทอเป็นแผ่นพลาสติกและนำมาตัดเย็บ จึงเป็นที่มาของกระเป๋าเอนกประสงค์ Mimi ซึ่งมีความแข็งแรงและทนทานสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

        ทั้งนี้การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทำให้พลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วไม่เป็นขยะอีกต่อไป จึงเป็นการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

        นางประวรา เอครพานิช กล่าวเสริมตอนท้ายว่า “เรามีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนโครงการ AMAZE Green Society ให้เป็นโครงการระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเรายินดีอย่างยิ่งหากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ต้องการร่วมเป็นพันธมิตรคู่คิดที่จะเดินหน้าลดปริมาณขยะสิ่งทอไปด้วยกัน เราเชื่อว่า เมื่อเรามีเพื่อนมากขึ้น และสามารถขยาย Fabric Zero Waste Alliance เป็นวงกว้างขึ้น พวกเราก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพันธกิจของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตามเป้าหมาย”

        จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานของประเทศในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 247.7 ล้านตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 66.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 6.7% และตามกรอบเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ปีพ.ศ. 2573 ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะต้องลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 30 ล้านตันในอีก 7 ปีข้างหน้า


คลิปวิดีโอ