วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 21:27น.

บางกอกแอร์เวย์ส ทุบสถิติกำไรไตรมาสแรก 1,900 ล้านบาท พร้อมยอดผู้โดยสารทะลุ 1.3 ล้านคน

13 พฤษภาคม 2024

          การบินกรุงเทพฯ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,879.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000.1ล้านบาท หรือร้อยละ 113.7 จากปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตในด้านจำนวนผู้โดยสารที่ขนส่งรวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 17.1 จากปี 2566 และฟื้นตัวได้ร้อยละ 75.6 จากช่วงก่อนการระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2562 อีกทั้งยังมีผลกำไรที่เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 267.95 ซึ่งในปีดังกล่าวมีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท

           นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาพรวมสถานการณ์การเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกและในประเทศไทยที่ยังคงมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยปัจจัยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก และการเติบโตของปริมาณอุปสงค์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ที่ขยายตัว บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญโดยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณ การเดินทางที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะเส้นทางสมุย รวมถึงได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินไปยังประเทศจีน 2 เส้นทางเชื่อมเกาะสมุย ได้แก่ สมุย-เฉิงตู และสมุย-ฉงชิ่ง ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเฉลี่ยจำนวน 2-3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

           โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ ได้ขนส่งผู้โดยสาร 1.3 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 17.1 จากปี 2566 และฟื้นตัวได้ร้อยละ 75.6 ของช่วงก่อนโควิด-19 ในขณะที่ปริมาณที่นั่งรวมเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 15.5 ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 88.4 ปรับตัวสูงขึ้น 1.3 จุดจากปี 2566 โดยรายได้บัตรโดยสารส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) จากต่างประเทศร้อยละ 44.0 รองลงมาได้แก่ จุดขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 43.0 และจุดขายบัตรโดยสารในประเทศไทยร้อยละ 12.0 ของรายได้บัตรโดยสารทั้งหมด และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 4,405.9 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 

          “สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 จากการเติบโตของธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 73.4 และร้อยละ 16.8 ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,390.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,160.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.2 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 39.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 ในขณะที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวม 5,358.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินและค่าบริการผู้โดยสาร บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,879.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 1,000.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 113.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยมีผลกำไรส่วนที่เป็นของ ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 1,873.2 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.89 บาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 บริษัทยังมีผลกำไรที่เติบโตขึ้นร้อยละ 267.95 ซึ่งในปีดังกล่าวมีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท”  

           สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังคงวางเป้าผู้โดยสารตลอดปี 2567 ที่ 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท โดยมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์การเดินทางด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services) มุ่งเน้นบริการระดับพรีเมี่ยมให้แก่ผู้โดยสาร การันตีด้วยรางวัลเกียรติยศสายการบินระดับภูมิภาคที่ที่สุดในโลก และสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย 7 ปีซ้อน จากการประกาศผล เวิลด์ แอร์ไลน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 จากสกายแทรกซ์ โดยสำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยมีแผนข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมประมาณ 2 สายการบินในปี 2567 อีกทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านแผนพัฒนากิจการสนามบินภายใต้การบริหารงานของบริษัท จำนวน 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด เพื่อส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบินและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมายังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ในประเทศไทย นายพุฒิพงศ์ กล่าวสรุป


คลิปวิดีโอ