วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 10:40น.

สถาบันยานยนต์ จับมือ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ และผู้นำวงการยานยนต์ จัดสัมมนา “Automotive Summit 2023”

29 พฤษภาคม 2023

        สถาบันยานยนต์ จับมือ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ร่วมฉลอง 10 ปีความร่วมมือ จัดสัมมนาด้านยานยนต์ในงาน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป” (Manufacturing Expo) 2023 และฉลอง 25 ปีก่อตั้งสถาบันยานยนต์ จัดใหญ่มหกรรมสัมมนา “ออโตโมทีฟ ซัมมิท” (Automotive Summit) 2023 ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายนนี้ ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

        สถานการณ์โควิดและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยตลาดยานยนต์ทั่วโลกในปีนี้มีการเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกว่า “ข้อมูลเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 9 สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่าย 31.8 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน (ข้อมูลจาก LMC Automotive)”

        เมื่อพูดถึงสถานการณ์ยานยนต์ไทย ดร. เกรียงศักดิ์ เผยว่า ปี พ.ศ. 2566 ไทยคาดการณ์ปริมาณผลิต 1.95 ล้านคัน ขายในประเทศ 0.90 ล้านคัน และส่งออก 1.05 ล้านคัน และในเดือน มกราคม-เมษายน 2566 มีปริมาณการผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ตลาดรถยนต์ในประเทศมีปริมาณ 276,603 คัน ลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้น ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 19,347 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,206 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดส่งออกมีปริมาณ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 เป็นผลจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทาน ที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต

        ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวถึงปัจจัย ที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณผลิต จำหน่ายและส่งออก ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ “สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศนั้น สถานการณ์ตลาดส่งออก คาดการณ์ว่า ตลาดหลักคือ อาเซียนและตะวันออกกลางจะยังเติบโต ร้อยละ 4 และ 6 ตามลำดับ (ข้อมูลจาก IHS Markit) เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตลาดหลัก คือ ออสเตรเลียและอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการด้านอุปสงค์และอุปทาน ทำให้การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยส่งออก จึงอาจทำให้เสียโอกาสการส่งออกบางส่วน

        นอกจากนี้ ในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2566 การส่งออกรถยนต์จากจีนมีจำนวน 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 มากกว่าการส่งออกของญี่ปุ่นที่มีจำนวน 950,000 คัน เนื่องจากความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้นมาก ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ตั้งโรงงานในจีนเริ่มพิจารณาปรับลดการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ผลิตรถยนต์ของจีนได้ ผลดังกล่าว อาจจะทำให้การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ทั้งรถยนต์ของจีนและรถยนต์ของต่างประเทศที่ลงทุนในจีน

        ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร แต่เชื่อว่า นโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน

        “จากเป้าหมาย 30@30 และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจากประเทศจีนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เนื่องด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่ SAIC (กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี), GWM (กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี), BYD (กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี), NETA (กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี) อยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2 ราย ได้แก่ GAC Aion และ Chang An Automobile และมีแผนลงทุน 1 ราย ได้แก่ Chery Automobile (ปี 2024) ซึ่งเป็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่ยังมีประเด็นความท้าทายคือ เงื่อนไขการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป มาตรการกีดกันการทางการค้าระหว่างประเทศมีน้อยลง เช่น ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ประกอบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนมีความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ”

        ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในประเทศจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยงาน Automotive Summit เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป ได้รับทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ”

        งาน Automotive Summit ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Reshape the Future of Thai Automotive Industry” หรือ “พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” โดยเนื้อหาในงานสัมมนาจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง Transition หรือการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ สอง Transformation หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้อย่างไรบ้าง

        สำหรับการสัมมนาในช่วง Transition ประกอบไปด้วย ประเด็นด้านความยั่งยืน การใช้ไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ในยานยนต์ และบทบาทของซอฟต์แวร์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในเทคโนโลยียานยนต์ และการสัมมนาในช่วง Transformation ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ด้านบุคลากร ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปิดท้ายด้วยนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยในงานสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 40 ท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์มานำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

        “นับเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนี่งที่ สถาบันยานยนต์ ได้ร่วมกับ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนาในครั้งนี้ภายในงาน Manufacturing Expo และการจัดงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในวงการอีกมากมาย ซึ่งทางสถาบันฯ ต้องขอขอบคุณ บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด และองค์กรอีกมากมายที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดสัมมนาในครั้งนี้ครับ” ดร. เกรียงศักดิ์กล่าว

        ด้านผู้จัดงาน Manufacturing Expo นั้น นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด (RX Tradex เดิมชื่อ รี้ด เทรดเด็กซ์) ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า “ในทุกๆ ปีช่วงเดือนมิถุนายน อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จะจัดงาน Manufacturing Expo ขึ้นให้เป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมได้พบกับเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ในมหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน โดยรวมเอางานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเฉพาะทางถึง 8 งานไว้ในมหกรรมเดียว ซึ่งในปีนี้จะนับเป็นปีที่ 13 ของ Manufacturing Expo และกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 – 24 มิถุนายน นี้ ที่ฮอลล์ 98 – 104 ไบเทค บางนา”

        ความครบครันของงาน Manufacturing Expo นั้นเกิดมาจากการรวมตัวกันของงานแสดงเฉพาะทางที่แสดงนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับหลากหลายวงการ ทั้งการผลิตพลาสติก, แม่พิมพ์และการขึ้นรูป, ชิ้นส่วนยานยนต์, การเตรียมพื้นผิว ชุบเคลือบ และทำสีชิ้นส่วน, การแสดงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อภาคการผลิตและภาคบริการ, การผลิตและประกอบอิเล็กทรอนิกส์, การก่อสร้าง บริหารจัดการ และบำรุงรักษาโรงงานและอาคาร และการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำหรับหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม

         หนึ่งใน 8 งานแสดงเฉพาะทางของ Manufacturing Expo นั้นคืองาน ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง (Automotive Manufacturing) ซึ่งเป็นงานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 และจะเป็นศูนย์รวมทุกเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งการแปรรูปโลหะแผ่น การเชื่อม และการตรวจวัด ผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วน ที่ผู้ประกอบการในวงการยานยนต์ทุกคนจะได้มาเกาะกระแสรับมือความเปลี่ยนแปลงพร้อมไปกับผู้ให้บริการกว่า 250 แบรนด์จากหลายประเทศ

        งาน Automotive Manufacturing ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดว่า “The Path to Express Way of Future Automobiles” หรือ “เส้นทางสู่ยานยนต์แห่งอนาคต” เพราะ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ต้องการให้งานนี้เป็นงานที่ปูเส้นทางให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ทันกระแสความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ผู้ร่วมงานได้รับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

        “องค์ความรู้สำคัญที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากงาน Automotive Manufacturing ก็คือองค์ความรู้จากสัมมนา Automotive Summit ที่ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ได้ร่วมมือกับสถาบันยานยนต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งปีนี้ก็นับเป็นปีที่ 10 แล้วที่เราร่วมมือกันมาตลอด ซึ่งทุกครั้งที่เราร่วมจัดสัมมนานี้ เราก็ไม่เคยผิดหวังเลยในแง่ของเนื้อหาและรายชื่อวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพราะหัวข้อและเนื้อหาในแต่ละปีล้วนแล้วแต่นำกระแสและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก วิทยากรที่มาร่วมงานก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชำนาญ ทำให้งาน Automotive Summit เป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่เราจะได้พบและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจำนวนกว่า 40 ท่านในงานเดียว”

        “ผู้ที่เข้าร่วมฟังสัมมนาในงาน Automotive Summit แล้ว สามารถเข้าชมเครื่องจักรและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในงาน Automotive Manufacturing ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งลงทะเบียนเข้าชมงานเดียว สามารถเข้าชมทั้ง 8 งานภายใต้มหกรรม Manufacturing Expo ได้เลย นับว่าคุ้มค่ามากๆ ขอเพียงผู้ชมงานแต่งกายสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะหรือกางเกงขาสั้น เนื่องจากงานเป็นงานแบบเจรจาธุรกิจ”

        ในงาน Automotive Manufacturing จะมีการแสดงเทคโนโลยีหลากหลายประเภทที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการผลืตชิ้นส่วนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจะมีการแสดงเครื่องแปรรูปโลหะแผ่นสำหรับผลิตตัวถังรถ ฝากระโปรงรถ เช่น เทคโนโลยีเครื่องตัดเลเซอร์ 3 มิติ และเครื่องตัดโลหะ, เทคโนโลยีเด่นในงานอีกประเภทก็จะเป็นเครื่องวัดที่จะช่วยตรวจสอบว่าชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นมานั้นได้คุณภาพหรือไม่ เช่น โซลูชั่นที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบอนุภาคปนเปื้อนได้เร็วขึ้นผ่านการใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงและอิเล็กตรอน สามารถระบุแหล่งที่มาของอนุภาคปนเปื้อนนั้นได้ และจะมีการเปิดตัวเครื่องสแกนวัดชิ้นส่วนที่ไวที่สุดในโลก และยังจะมีผู้รับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปแสดงในงานด้วย จึงเรียกว่าเป็นงานที่ครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จริงๆ


คลิปวิดีโอ