วันอังคาร ที่ 24 กันยายน 2567 15:27น.

TikTok ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน เสริมองค์ความรู้ดิจิทัล ผลักดันสินค้า OTOP รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ

22 สิงหาคม 2023

        TikTok มุ่งมั่นในการปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเหล่าครีเอเตอร์ไทย ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม และชุมชนในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล TikTok สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นผ่านการนำพาโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่สิ้นสุดเพื่อผู้ประกอบการไทย บนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงร้านค้าและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของทักษะทางดิจิทัล เพื่อผลักดันให้ธุรกิจท้องถิ่นสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางดิจิทัล นำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน

        สำหรับประเทศไทย TikTok เล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการสนับสนุนและผลักดันผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ให้สอดรับกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงขยายความพยายามในการเสริมศักยภาพของการทำธุรกิจให้กับธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม ผ่านความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในการส่งเสริมการเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์ม TikTok ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัล ในโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บน TikTok Shop เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมขับเคลื่อนฐานรากเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

        ภายในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้รับเกียรติจากนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – TikTok Thailand เป็นผู้ลงนาม โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยส่งเสริมโอกาสทางการตลาด และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นผ่านการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์แก่ผู้ประกอบการ OTOP ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok Shop เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ผ่านโครงการ #ช้อปได้ทุกถิ่น บนแพลตฟอร์ม TikTok Shop ตามระยะเวลาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ (3 ปี)

        นางชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – TikTok Thailand กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากพันธสัญญาของ TikTok ที่ประกาศสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 120,000 ราย โดยลงทุนมูลค่ากว่า 12.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจออนไลน์และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการมอบเงินทุนช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล และเครดิตโฆษณาสำหรับธุรกิจ TikTok มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม ธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทและชานเมือง รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจอัจฉริยะผ่านนโยบาย Smart Economy ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของรายได้ของประเทศ และสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพ รวมถึงการสนับสนุนระบบนิเวศท้องถิ่น ทั้งในด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ศักยภาพของ TikTok ในฐานะแพลตฟอร์มที่ควบรวมคอนเทนต์และคอมเมิร์ซเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมสร้างประสบการณ์ Shoppertainment หรือ การช้อปปิ้งผ่านการรับชมคอนเทนต์ความบันเทิง จะช่วยปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ OTOP และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP สู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่าน TikTok Shop โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย ช่วยให้ผู้ประกอบการ OTOP มีความมั่นคงทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย พร้อมช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ OTOP และบริการอย่างง่ายดาย พร้อมส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปลุกจิตวิญญาณผู้ประกอบการธุรกิจในไทย เพื่อส่งเสริมโอกาสให้กับธุรกิจท้องถิ่นในประเทศไทย”

         นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน เพิ่มมุ่งสู่ความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียนจำนวน 99,732 กลุ่ม/ราย และผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 225,276 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย รวดเร็ว และเข้าถึงได้ทุกเวลา”


คลิปวิดีโอ