ความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์จากอดีตสู่ปัจจุบัน ช่วยให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายและเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการพัฒนาและนำความรู้ไปกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายให้เป็นประโยชน์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การศึกษาประวัติศาสตร์ช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากอดีต สั่งสมทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหา สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาศาสตร์ด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรในสังคมที่เจริญก้าวหน้าทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม
ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 32 พาครูอาจารย์และผู้บริหารที่สนใจลงพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ย้อนประวัติศาสตร์สมัยพ่อขุนรามคำแหงที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้อาณาจักรสุโขทัยยังรุ่งเรืองด้านศาสนาและวัฒนธรรม การปกครอง รวมทั้งการเกษตรที่มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างชาญฉลาดด้วยภูมิปัญญาในการควบคุมสภาวะธรรมชาติให้เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานการดำรงชีวิตมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ซึ่งเป็นการเก็บกักน้ำเช่นเดียวกันกับการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของ พระ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับว่าเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาบ้านเมืองมาได้อย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายณัฏฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นประธานในพิธีเปิด ณ วัดตระพังทอง ถวายเทียนพรรษาจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แด่วัดพิพัฒน์มงคล วัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย พร้อมร่วมปล่อยปลาบึกจำนวน 299 ตัว ไถ่ชีวิตเป็นมหาทานครั้งที่ 309 ณ เกาะกลางรูปหัวใจ บริเวณทุ่งทะเลหลวง มอบเสื้อกีฬา และหนังสือชุดประวัติศาสตร์จากโครงการแสงสว่างแห่งปัญญา และจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ให้กับโรงเรียนอนุบาลการกุศลวัดตระพังทอง และโรงเรียนในจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมอบเป็ดไข่จำนวน 700 ตัว ให้กับโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่31 (ค่ายเจ้าพระยาจักรี) จังหวัดพิษณุโลก และเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สถานที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง การลงมือทำขนมโบราณของสุโขทัย ขนมกระแดกงา และการลงสีนกคุ้ม เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัย มีแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นในเรื่อง ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ดังนั้น การลงพื้นที่เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนรอยความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย สามารถที่จะนำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาประวัติศาสตร์มาปรับใช้ อีกทั้งการทำกิจกรรมปล่อยปลาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และเป็นความเชื่อของชาวพุทธในเรื่องของการทำบุญไถ่ชีวิตเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การทำบุญถวายเทียนพรรษา ก็เป็นการดำรงรักษาประเพณีที่ดีงามของศาสนาพุทธ นับว่าโครงการนี้ สามารถบูรณาการสร้างจิตสำนึกของความเป็นไทยให้ดำรงไว้ซึ่งความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตรย์ ให้เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาองค์กรของบริษัท”
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจความคิดความรู้สึกของคนในสังคมต่าง ๆ และในเวลาต่าง ๆ กัน ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวในปัจจุบันชัดเจนขึ้น การเรียนรู้ว่าชาติของเรานั้นมีที่มาและมีพัฒนาการมาอย่างไร มีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นอย่างไร และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเพราะอะไร บทเรียนจากประวัติศาสตร์จะทำให้เรารู้จักตัวเองและเข้าใจสังคมปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโดยนำหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ ความพอเพียง การมีวินัย ความสุจริต มีจิตอาสา และกตัญญู มาปรับใช้จะยิ่งช่วยให้สังคมและชาติไทยของเราได้รับการพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
นอกจากนี้ คณะครูอาจารย์ยังได้ทำกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และการบรรยายถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี การบรรยายเรื่องคุณธรรมในยุคดิจิทัล โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นับว่าเป็นการได้เรียนรู้ พัฒนา และบูรณาการความรู้ครบทุกมิติ ทั้งด้านตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้
ส่วนหนึ่งของครูอาจารย์ ผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวถึงกิจกรรมว่า โครงการนี้ต่างจากการเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชา ที่ได้เคยเรียนมาอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีกระบวนการเรียนรู้ที่นำพาให้เข้าใจถึงหลักการที่มาของนวัตกรรมศาสตร์พระราชา รู้สาเหตุของปัญหา การร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และเข้าใจในเรื่องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ อีกทั้ง ยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมด้านสังคม ครอบครัว วัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองและคนในครอบครัว รวมทั้งในองค์กรได้
โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป โดยครั้งต่อไปเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยา ในระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2566