นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 ตามงบการเงินรวมมูลค่ายุติธรรม มีรายได้รวมกว่า 4,518 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 1,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย ทั้งนี้ AWC ยังคงมุ่งพัฒนาโครงการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ เปลี่ยนทรัพย์สินกำลังพัฒนา (Developing Asset) เป็นทรัพย์สินดำเนินงาน (Operating Asset) ควบคู่การยกระดับโครงการในพอร์ตโฟลิโอ (Assets Enhancement) ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) สอดคล้องกลยุทธ์ GROWTH-LED เพื่อสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 นี้ บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานรวม 120,307 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 36,996 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.4 เทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562
“ผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2566 ของ AWC มีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) อยู่ที่ 2,472 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนที่มีการกลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นปีแรกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักในภาพรวม (RevPAR) สูงถึง 3,356 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 รวมถึงมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) เท่ากับ 5,367 บาทต่อคืน เติบโตร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสูงกว่าปี 2562 ด้วยเช่นกัน สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) AWC ยังคงมุ่งเพิ่มศักยภาพในการสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดในระยะยาว โดยบริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้านไลฟ์สไตล์ ตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน”
กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ
ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) อยู่ที่ 660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 200.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมในกลุ่มประชุมสัมมนา และกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ ซึ่งมีค่า Revenue Generation Index (RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 218 เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นทรัพย์สินดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มโรงแรมที่ตั้งอยู่ในทําเลยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ การเปิดตัวโรงแรม ‘INNSiDE by Meliá Bangkok Sukhumvit’ แห่งแรกในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อมอบประสบการณ์โมเดิร์นไลฟ์สไตล์ให้กับกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่ และเป็นโรงแรมที่ได้มีการออกแบบและก่อสร้างตามกรอบการรับรองของมาตรฐานอาคาร Excellence in Design for Greater Efficiency (EDGE) รวมถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ Nobu Hospitality ร่วมสร้างโรงแรมระดับอัลตร้า ลักชูรี่ 2 แห่งภายใต้แบรนด์ Plaza Athenee ได้แก่ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา นิวยอร์ก (Plaza Athenee Nobu Hotel and Spa New York) และโรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก (The Plaza Athenee Nobu Hotel and Spa Bangkok) เชื่อม 2 มหานคร นิวยอร์กและกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด River Journey Project พร้อมเชื่อมต่อหลากหลายโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาของ AWC สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวทางสายน้ำให้แก่นักเดินทาง
ปัจจุบัน AWC มีจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 22 โรงแรม รวมจำนวนห้องพักรวม 5,794 ห้อง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 23 โรงแรม ภายในสิ้นปี 2566 รวม 6,034 ห้อง คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่จำนวน 3,432 ห้อง ประกอบกับอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ที่สูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งกว่าปีก่อนและก่อนสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีรายได้ 2,287 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 76.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเพิ่มศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้กับบริษัท พร้อมตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพและจำนวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย High-to-Luxury ที่เพิ่มมากขึ้น
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial)
กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานยังคงสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการยกระดับอาคารให้เป็นไลฟ์สไตล์สเปซแห่งใหม่ที่ตอบโจทย์การทำงานและไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ อาทิ การเปิดตัว “Co-Living Collective: Empower Future” ของอาคาร ‘เอ็มไพร์’ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ผสานรูปแบบการใช้ชีวิตในบ้านมาเชื่อมต่อกับการทำงานอย่างลงตัว สร้างความแตกต่างจากอาคารสำนักงานรูปแบบเดิม ซึ่งช่วยรักษาฐานผู้เช่าเก่า พร้อมดึงดูดผู้เช่าใหม่ที่มองหาอาคารสำนักงานคุณภาพ ที่มีพื้นที่ตอบรับเทรนด์การทำงานในรูปแบบไฮบริดที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ AWC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก เพื่อสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มที่อาคาร ‘เอ็มไพร์’ ให้เป็นคอมมูนิตี้ดิจิทัลรูปแบบใหม่ เชื่อมต่อผู้เช่าในอุตสาหกรรมดิจิทัลเข้าด้วยกันอีกด้วย
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการค้า (Retail and Wholesale) สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวเติบโตของดัชนียอดขายของร้านค้า และบริษัทได้พัฒนาพื้นที่เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวและกลุ่มลูกค้าอยู่เสมอ โดยโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น มีจำนวนผู้มาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากกิจกรรม ‘Disney100 Village at Asiatique’ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในการเป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหารเครื่องดื่มระดับโลกที่ช่วยดึงดูดจำนวนผู้เช่าและจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการเปิดตัวโครงการ THE PANTIP LIFESTYLE HUB ที่เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “EVERY HAPPINESS FOR EVERYONE” มุ่งสร้างแลนด์มาร์คไลฟ์สไตล์สำหรับครอบครัวใจกลางเมืองเชียงใหม่ และโครงการ THE PANTIP AT NGAMWONGWAN โฉมใหม่ภายใต้แนวคิด “TREASURE HUNT” สู่การเป็นศูนย์พระเครื่อง และศูนย์รวมอาหารและไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุด สำหรับธุรกิจค้าส่ง AWC ได้ร่วมรวมพลังผู้นำธุรกิจอาหารทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค” ที่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ตอบโจทย์การค้าส่งอาหารครบวงจร พร้อมเชื่อมผู้ค้าส่งอาหารทั่วโลกกับผู้ซื้อในเขตเศรษฐกิจอาเซียน
“AWC มุ่งมั่นสร้างการเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน โดยบริษัทฯ ได้ลงนามสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) รวมถึงสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อรองรับแผนการพัฒนาโครงการคุณภาพระดับเมกะโปรเจกต์เสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตโฟลิโอที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ร่วมสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวยั่งยืน โดย AWC ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนวงเงินสินเชื่อระยะยาวซึ่งเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียวเป็นร้อยละ 100 เพื่อมุ่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสังคมองค์รวม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” นางวัลลภา กล่าวสรุป
AWC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้รับรางวัลที่สะท้อนถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานสากลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปีนี้ AWC ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินองค์กรด้านความยั่งยืน ในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) พร้อมได้รับคัดเลือกเป็น “Top 1% S&P Global ESG Score 2022” รวมถึงยังคงรักษาการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ “AA” เป็นต้น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และสร้างมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยั่งยืนของไทยตามพันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” (Building a Better Future)