เปิดตัว ‘KANNA’ แอปพลิเคชันบริหารโครงการก่อสร้าง เสริมประสิทธิภาพระบบจัดการงานเอกสาร และติดตามกระบวนการทำงานโครงการแบบครบวงจร เตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย รุกกลุ่มเป้าหมายธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ชี้กระแสตอบรับจาก 20,000 บริษัทชั้นนำ มากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
นายฮิคารุ นากายามา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Aldagram Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นผู้พัฒนา “KANNA” แอปพลิเคชันบริหารจัดการโครงการก่อสร้าง กล่าวว่า ภาพรวมของเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมามักจะพบปัญหาการรับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน รวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลที่ไม่ราบรื่นระหว่างโครงการก่อสร้างกับบริษัท ส่งผลให้การบริหารโครงการทำได้ค่อนข้างยาก ผิดพลาดง่าย
ในฐานะที่ประเทศญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายก่อสร้างสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากจำนวนแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของ Aldagram Inc. ในการคิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยให้การส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ทำทันตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ และสามารถควบคุมต้นทุนได้ด้วย
หลังจากเปิดตัวในปี 2563 บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบรองรับภาษาอังกฤษในปี 2565 เพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้งานนอกประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งได้เพิ่มรองรับการใช้งานในภาษาไทยและภาษาสเปนด้วย ไม่เพียงแต่ใช้งานสำหรับกลุ่มบริษัทก่อสร้างเท่านั้น ได้ขยายกลุ่มผู้ใช้ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน “KANNA” แล้วมากกว่า 20,000 บริษัท จาก 10 กว่าประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ดูไบ อังกฤษ อินเดีย ออสเตรเลีย สเปน ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม เคนย่า และอูกันด้า
โดยแอปพลิเคชัน “KANNA” มีจุดเด่นที่การควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการต้นทุน และการส่งมอบงานตามกำหนด ด้วยการบริหารจัดการงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้สามารถเชื่อมข้อมูลการทำงานทุกแผนกผ่านแพลตฟอร์มในแอปพลิเคชันเดียว ในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้ง่าย ส่งผลดีต่อผู้ปฏิบัติงานให้สามารถบริหารจัดการโครงการ พร้อมกับแชร์และเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ลดปัญหาหน้างาน สื่อสารได้รวดเร็ว และจัดเก็บเอกสารบนแพลตฟอร์มที่แม่นยำ พร้อมระบบการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง
ในงานเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทฯ ได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนะนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายโอบะ ยูอิชิ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยวิทยากรชั้นนำจากบริษัทในวงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่างยอมรับว่า ทุกวันนี้การใช้เทคโนโลยี Digital Transformation มีความจำเป็นในวงการก่อสร้างไทยมากขึ้น เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวอย่างมากหลังการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะความรวดเร็วในการดำเนินงานก่อสร้าง เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของระบบสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ระบบรางและถนน รวมถึงเมกะโปรเจ็คต่าง ๆ ที่กระจายตัวไปตามจังหวัดใหญ่ ๆ มากขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือ ผู้รับเหมาที่บริหารจัดการโครงการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพก็สามารถรับงานต่อเนื่องได้ทันที