ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2566 โดยมีอนุญาโตตุลาการ ผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการอันเกี่ยวกับกฎหมายด้านการประกันภัยที่มีการแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. อีกทั้งเพื่อให้อนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพบปะหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ข้อขัดข้องที่พบในการดำเนินกระบวนพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ” มีผู้ร่วมวงเสวนาประกอบด้วย อนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. และผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เป็นผู้ดำเนินการเสวนาใน 3 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
ประเด็นแรก การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่มีมูลเหตุจากเหตุละเมิดเดียวกันและหรือมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยหลายราย โดยผู้ที่มีสิทธิตามสัญญาประกันภัยหรือทายาทได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทแยกเป็นหลายคดีและมีตั้งอนุญาตโตตุลาการในแต่ละคดีต่างรายกัน
ประเด็นที่ 2 การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด ระหว่างดอกเบี้ยตามกรมธรรม์และดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประเด็นที่ 3 การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งต้องพิจารณาถึงลำดับและวงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ทั้งสองประเภท หรือการหักค่าสินไหมทดแทนกรณีมีกรมธรรม์ประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจเพื่อให้เป็นไปตามความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์
ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นที่มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีการหยิบยกและพูดคุยกันมาก่อนอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีประเด็นการบริหารจัดการสำนวนข้อพิพาทที่มีอนุญาโตตุลาการหลายท่านรับผิดชอบในเหตุพิพาทเดียวกัน เพราะผู้มีสิทธิเรียกร้องแต่ละรายเสนอข้อพิพาทมาไม่พร้อมกัน เพื่อจะได้วางกรอบคำชี้ขาดให้ไปในแนวทางเดียวกันหรือกรณีประเด็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดตามเงื่อนไขกรมธรรม์กับอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อวางแนวทางคำชี้ขาดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นกัน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งการดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัย ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้สำนักงาน คปภ. ได้นำกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนใช้ในการระงับข้อพิพาทกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นระหว่างประชาชนผู้เอาประกันภัย กับบริษัทประกันภัย โดยไม่ต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาล ในขณะเดียวกัน การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินกระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับเชื่อถือไว้วางใจจากคู่พิพาททั้งฝ่ายผู้เสนอข้อพิพาท (ผู้เอาประกันภัย ประชาชนผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัย) และผู้คัดค้าน (บริษัทประกันภัย) และจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยที่มีประโยชน์ต่อทั้งส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ทำให้จำนวนการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็ย่อมมีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยจะเห็นได้จากสถิติการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561จนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 มีข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการที่สำนักงาน คปภ. ดำเนินการ เป็นจำนวน 6,959 เรื่อง ยุติแล้ว 5,772 เรื่อง ทุนทรัพย์ที่ยุติกว่า 769,265,314 บาท สำนักงาน คปภ. ได้มีการศึกษาและเตรียมการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ในการแก้ไขปัญหาและระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทผู้รับประกันภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริษัทผู้รับประกันภัยที่สามารถดำเนินการกระบวนการพิจารณาที่สะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันอนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีมาใช้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ระบบ E-Arbitration ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อยอดมาจากระบบ PPMS (Policyholder Protection Management System) ที่มีอยู่ รองรับกระบวนการพิจารณาผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การยื่นคำเสนอข้อพิพาท การยื่นคำคัดค้าน การวางและคืนเงินเป็นหลักประกัน การตั้งอนุญาโตตุลาการ การกำหนดวันนัดพิจารณา การส่งและสั่งคำร้อง การสืบพยาน การจัดทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับงานอนุญาโตตุลาการนำเสนอต่อผู้บริหารได้ ทั้งนี้ ได้มีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 โดยสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th โดยระบบ E-Arbitration นี้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ทั้ง 3 ฝ่ายคือ
ฝ่ายแรก ประชาชนผู้เอาประกันภัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งมีผลทำให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือยุติข้อพิพาทได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สามารถเข้าถึงและติดตามความคืบหน้าได้ตลอดทุกที่และตลอดระยะเวลา
ฝ่ายที่ 2 บริษัทผู้รับประกันภัย สามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกระบวนการพิจารณา โดยไม่ต้องเดินทางมา ณ ที่ทำการของอนุญาโตตุลาการในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งลดภาระการดำเนินการทางเอกสาร และสามารถบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และฝ่ายที่ 3 อนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกและเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
“จะเห็นได้ว่าสำนักงาน คปภ. ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านประกันภัยมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในทุกมิติ โดยเฉพาะกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคู่พิพาท อนุญาโตตุลาการ และสำนักงาน คปภ. อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเป็นระบบและครบวงจร” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย