ศุภาลัย จับมือพันธมิตร SCG คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ทะเลไทย ผ่านโครงการ “รักษ์ทะเล” ด้วยการนำเศษคอนกรีตเหลือใช้จากไซต์งานก่อสร้างผ่านกระบวนการย่อยและคัดแยก เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมผลิตปูนซีเมนต์ และนำมาขึ้นรูปเป็น “บ้านปะการัง” ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution อีกทั้งยังชวนพนักงานและสื่อมวลชน ‘สร้างดี’ หล่อและติดกิ่งให้กับบ้านปะการัง เพื่อเตรียมไปวางใต้ท้องทะเลในพื้นที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูท้องทะเลอย่างยั่งยืน
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศุภาลัย ดำเนินการธุรกิจควบคู่กับยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยในปีนี้ (2566) นอกจากบริษัทฯจะตั้งมั่นสร้างสรรค์โครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้าง ‘บ้าน’ ให้กับปะการัง เพื่อคืนความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการังและสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลไทย จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ “รักษ์ทะเล” ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรธุรกิจอย่าง SCG โดยการนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ โดย “ศุภาลัย” ได้นำเศษคอนกรีตรีไซเคิลในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากนำลูกปูนที่ใช้ในการทดสอบกำลังอัดคอนกรีต มาเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูน ทำให้วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี 3D Printing นั้น มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน และทำมาจากปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ ศุภาลัย ยังได้ชวนผู้บริหาร พนักงาน คณะสื่อมวลชน และ SCG ร่วมกิจกรรมหล่อกิ่งและติดก้านปะการัง ณ โครงการศุภาลัย เอสเซ้นส์ อ่างศิลา จ.ชลบุรี โดยมี ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda ผู้เป็นหัวหอกสำคัญในโครงการ “รักษ์ทะเล” ให้ความรู้เรื่องความสำคัญของระบบนิเวศปะการังอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากนี้ จะนำบ้านปะการังที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ ไปวางในพื้นที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการังและเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต