วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 06:26น.

ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กดปุ่มประกันดิจิทัลฯเจ้าแรก“อินชัวร์เวิร์ส ประกาศเป้าเบี้ยปีนี้ 500 ล.

15 มิถุนายน 2023

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ก่อนหน้านี้บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทิพย ไอบี จำกัด หรือ TIP IB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH โดยหลังการเข้าลงทุนดังกล่าวได้ส่งผลให้ TIP IB เข้าถือหุ้นสามัญของบริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 80 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด และจะทำให้ บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ TIPH ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ อินชัวร์เวิร์ส “InsurVerse” (Digital Insurance) ซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นบริษัทประกันภัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Pure Digital Insurance Company) แห่งแรกของประเทศไทย

         ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุด ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH ได้เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ กรรมการใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับโอนพอร์ตงานลูกค้าของบริษัทเอราวัณประกันภัย(เดิม)ย้ายมาอยู่กับบริษัทอินชัวร์เวิร์ส ซึ่งปริมาณงานโอนเข้ามาในพอรต์ไม่ได้มาก เนื่องจากก่อนหน้าบริษัทเอราวัณฯชะลอการขายไป จึงมียอดขายเข้ามาเดือนละไม่มาก โดยเฉลี่ยงานเข้ามาตกเดือนละ 1 ล้านบาทเท่านั้นเอง ขณะนี้บริษัทอินชัวร์เวิร์สกำลังเริ่มทำการทดลองระบบและทดลองขายอย่างไม่เป็นทางการไประดับหนึ่งแล้ว คาดว่าภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้น่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งก็มีแผนจะเพิ่มทุนรองรับการขยายงานในขั้นตอนต่อไป

        เมื่อถามถึงเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้สำหรับปีแรกนี้ นายสมพร กล่าวตอบว่า คงตั้งเป้าหมายเบี้ยฯปีนี้ไว้เป็นปีแรกที่ 500 ล้านบาท จากเดิมที่เคยคามหวังไว้ว่าน่าจะได้มากกว่านี้ โดยคิดว่าจะเปิดตัวดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี แต่กลับเปิดไม่ทัน จึงเลื่อนเป็นกลางปี สำหรับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทอินชัวร์เวิร์สจะเปิดทำการขายในเบื้องต้นนี้จะได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล(พีเอ) และประกันสุขภาพ รวมถึงประกันสัตว์เลี้ยงกับประกันไซเบอร์เล็กน้อย โดยลูกค้าเป้าหมายที่จะขยายงานก็คงจะเป็นการขายลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยยังไม่เน้นงานประกันกลุ่ม หรืองานประกันอินดัสตรี กับงานคอมเมอร์เชียล ซึ่งในช่วงต้นๆของการเปิดดำเนินการนี้เราคงจะยังไม่เข้าไป

        ส่วนจุดขายของผลิตภัณฑ์ของ บริษัท อินชัวร์เวิร์สจะเป็นอย่างไรและมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของบมจ.ทิพยประกันภัยหรือไม่นั้น นายสมพร กล่าวว่า มันจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัท อินชัวร์เวิร์ส จะขายตรงไปที่ลูกค้าเฉพาะ ไม่ผ่านตัวแทนนายหน้าฯ และกรมธรรม์ที่เปิดขายจะเป็นกรมธรรม์ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ในบางส่วน และปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างง่ายและสะดวก เพราะเราใช้ดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือให้ลูกค้าสามารถกำหนดงบประมาณที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยเอง หรือถ้าไม่ได้กำหนดงบฯที่จะซื้อประกัน เราก็สามารถให้ระบบคำนวณความคุ้มครองหรือเลือกประเภทความคุ้มครองให้เสร็จสรรพได้เรียบร้อยเลย ซึ่งระบบจะคำนวณเบี้ยฯออกมาให้ ถ้าเบี้ยฯมันแพงไป สามารถจะปรับลดได้ โดยเพียงแต่ไปปรับลดความคุ้มครองลงมา อย่างเช่นว่า ถ้าเราไม่ต้องการให้คุ้มครองความรับผิดชอบบุคคลภายนอกสูงมากเกินไป ก็ให้ระบบปรับลดวงเงินลงมาได้ เช่นสมมุติระบบโค้ดเบี้ยฯมาทีแรกคุ้มครองความรับผิดชอบบุคคลภายนอก 1 ล้านบาท ก็อาจจะลดลงมาเหลือ5 แสนบาท หรือ 2 แสนบาท เบี้ยฯก็จะลดลงมาตามนั้น

          ทั้งนี้นายสมพร ยังระบุถึงจุดขายของผลิตภัณฑ์ของบริษัทอินชัวร์เวิร์สเพิ่มเติมอีกว่า ผลิตภัณฑ์จะเป็นดิจิทัลอินชัวรันส์ 100 เปอร์เซนต์อย่างแน่นอน โดยลูกค้าต้องซื้อกรมธรรม์โดยการทำผ่านบนแพลตฟอร์มดิจิทัลหมดทุกอย่าง ซึ่งมันจะเป็นอะไรที่ง่าย และเหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์ประกันของทิพยประกันภัยขายกับบริษัทอินชัวร์เวิร์สขายนั้นจะแตกต่างกัน โดยสุดท้ายแล้วตลาดมันจะถูกแยกโดยอัตโนมัติ และมีการแข่งขันกัน โดยถ้าเปรียบเทียบไปแล้วก็เหมือนสายการบินที่แยกกันชัดเจนก็คือ พรีเมี่ยมแอร์ไลน์ กับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ นี่ก็เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ของทิพยประกันฯ ก็จะเป็นลักษณะคล้าย ”พรีเมี่ยมโปรดักส์” ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันที่บริษัทอินชัวร์เวิร์สนำออกมาขายจะเหมือนคล้าย โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งคนที่มีความรู้สึกว่า ฉันไม่ได้ขับรถอะไรเยอะแยะหรือมากมาย หรือขับในเส้นทางที่จำกัด ก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อความคุ้มครองอะไรที่มันคุ้มครองมากมาย ก็มาซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลอินชัวรันส์ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการให้บริการของ ”อินชัวร์เวิร์ส” ก็ไม่ใช่ ”โลว์คอสต์ โลว์เซอร์วิส” แต่อย่างใด แต่ความคุ้มครองของเราน่าจะเรียกว่า เหมาะสมกับราคามากกว่า โดยเป็นผลิตภัณฑ์ “โลว์คอสต์ แต่ไม่โลว์เซอร์วิส”

        “ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอินชัวร์เวิร์สของเราจะง่ายและสะดวกมาก ลูกค้าสามารถที่จะเอานั่นเข้า เอานี่ออก ได้ตามความต้องการของตัวเอง หรือถ้าขี้เกียจปรับรายละเอียด เพราะไม่มีความรู้มากพอ ก็ให้ระบบโค้ดให้ โดยใส่งบประมาณลงไป มันจะไม่เหมือนเมื่อก่อน อย่างสมมุติมีรถฮอนด้า ซีวิครุ่นปีนั้น ปีนี้ต้องการทำประกัน ระบบเดิมที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ บริษัทประกันก็จะโค้ดเบี้ยมาให้ แล้วถามเราว่า เอาหรือไม่เอา แต่ของบริษัทอินชัวร์เวิร์ส เราสามารถเริ่มต้นที่เราระบุว่า เรามีงบประมาณแค่นี้ ระบบก็จะแนะนำว่า ด้วยงบแค่นี้ ซื้อประกันอะไรดีที่สุด หรือถ้าไม่ได้ระบุงบฯ ก็ทำแบบเก่า ก็บอกว่า เรามีรถคันนี้เช่น ฮอนด้าซีวีคปีนี้ ปีนั้น ระบบก็จะโค้ดให้เลยว่า เท่านี้บาท และรายละเอียดความคุ้มครองว่ามีอะไรบ้าง และมีบางอันของความคุ้มครองใดบ้างที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้อีกบ้าง” นายสมพร กล่าว


คลิปวิดีโอ