โครงการบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมที่อยู่กับสังคมไทยมานานกว่า 12 ปี อย่างโครงการ Banpu Champions For Change (BC4C) โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ และสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บุกเบิกและบ่มเพาะเหล่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ไปกว่า 119 กิจการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนเบื้องหลังที่มีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันกิจการเพื่อสังคมเหล่านั้นก็คือ “คณะกรรมการ”
คณะกรรมการในโครงการ BC4C ไม่ใช่แค่ผู้คัดเลือกเท่านั้น แต่หลายครั้งที่บรรดากิจการเพื่อสังคมได้เจอจุดเปลี่ยนในการทำธุรกิจ หรือได้ไอเดียต่อยอดในการทำธุรกิจมาจากคำถามหรือข้อแนะนำจากเหล่าคณะกรรมการ โครงการ BC4C จึงสรรหาคณะกรรมการผู้คร่ำหวอดในแวดวงกิจการเพื่อสังคม ที่จะสามารถให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจได้อย่างรอบด้าน มองขาดทั้งปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบที่มีต่อธุรกิจ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และจุดประกายไอเดียเพื่อเร่งเครื่องธุรกิจ SE ให้ไปได้ไกลและเร็วกว่าเดิม
คุณสินี จักรธรานนท์ ประธานมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีสาขาใน 38 ประเทศทั่วโลก ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 30 ปีที่อโชก้า คุณสินีจึงมีความเข้าใจปัญหาสังคมที่ลึกซึ้ง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน มีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ต่างๆ
“ที่ผ่านมาเราเห็นผู้ประกอบการบางกลุ่มมี Passion ในการทำงานอย่างแรงกล้า แต่ยังไปไม่ถึงความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ดี แต่อาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่เป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายไปคือ ‘การเข้าถึงชุมชนหรือกลุ่มคนเหล่านั้น’ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ และหยิบนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาต่อยอดและหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่เรามีความถนัด ซึ่งการคัดเลือกทีม SE ที่จะผ่านเข้ารอบในครั้งนี้ ก็จะนำมิติด้านการทำงานกับชุมชนเพื่อให้เข้าใจปัญหาสังคมอย่างถ่องแท้เข้ามามีส่วนในการประเมินด้วย”
คุณภาวินท์ สุทธพงษ์ CEO บริษัท SpotON International Group – กูรูผู้คลุกคลีวงการบ่มเพาะและการวางแผนธุรกิจกว่า 15 ปี มีส่วนช่วยสร้างสตาร์ทอัพมากว่า 400 ธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับรางวัล การแข่งขันสตาร์ทอัพระดับโลก ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ทำให้คุณภาวินท์ทราบถึงปัญหาและกลยุทธ์ในการเอาชนะอุปสรรคในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อให้เดินต่อไปได้ คุณภาวินท์จึงเป็นทั้ง ‘กรรมการและเมนเทอร์’ ในโครงการ BC4C มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 รุ่น
“ผมได้เห็นคนรุ่นใหม่หรือผู้ประกอบการมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสังคมมาโดยตลอด แต่บางคนอาจโฟกัสเรื่องการเติบโตมากไปจนอาจลืมมองกลับมาว่าธุรกิจที่เราทำนั้นสามารถสร้างคุณค่าแก่สังคมได้ อยากให้มองภาพการทำธุรกิจอย่างรอบด้านให้กว้างมากขึ้นและเปิดใจกับการก้าวเข้ามาเป็นกิจการเพื่อสังคม ส่วนคนที่เข้าใจเรื่องกิจการเพื่อสังคมอยู่แล้วนั้น สิ่งที่ควรตระหนักคือ การสร้างคุณค่าและการเติบโตของธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งหากธุรกิจเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่าเราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมหรือส่งมอบสิ่งที่ดีให้สังคมได้ดียิ่งขึ้นได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน”
คุณอธิชา ชูสุทธิ์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) – ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลอินโนเวชัน เบื้องหลังผู้วางแผนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของ NIA
“เราเน้นย้ำถึง ‘3 องค์ประกอบหลัก’ ที่ทำให้ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คือ ‘Insight’ ความเข้าใจและองค์ความรู้ที่มีต่อประเด็นปัญหาที่ตนสนใจ ‘Solution’ การพัฒนาและคัดเลือกโซลูชันที่นำไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างเป็นรูปธรรม และ ‘Sustaining Model’ การพัฒนาแนวทางการขยายผลที่จะทำให้ธุรกิจของตนสามารถเติบโตต่อได้และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะถูกนำมาใช้ทั้งในการคัดเลือกและเป็นหลักแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ BC4C ตามบริบทที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละกิจการ”
คุณภัฏ เตชะเทวัญ ผู้ก่อตั้ง TP Packaging Solution – อดีตผู้ชนะเลิศจากใน BC4C รุ่นที่ 6 ผู้ซึ่งเคยได้รับการบ่มเพาะจนในปัจจุบันสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมแถวหน้าของเมืองไทย ได้นำประสบการณ์จริงของตัวเองมาช่วยสรรหา SE ในโครงการ BC4C
“ผมเห็นว่าสิ่งที่ช่วยให้ SE ประสบความสำเร็จมี 2 องค์ประกอบ ได้แก่ การมี ‘มุมมองที่กว้าง (Big Wide) ชัด และลึก’ กล่าวคือมีพื้นฐานของการมองเห็นปัญหาลึกซึ้ง เข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา มี Passion ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวทางของตนเอง และ ‘มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ที่สูงในทุกบริบทของปัญหา’ คือสามารถรู้เหตุของปัญหา รู้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ และสามารถเสนอแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ตลอดจนรู้ถึงผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบอย่างรอบด้าน อย่างเช่นโมเดลธุรกิจของผมสมัยที่เข้าประกวด BC4C นั้น ได้หยิบยกปัญหา ‘โฟม’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนมาเป็นตัวตั้งต้น เนื่องจากหลายภาคส่วนเน้นการรณรงค์เลิกใช้โฟมในภาคประชาชน แต่มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คนเลิกใช้โฟมได้เพราะพวกเขาไม่มีสิ่งทดแทน เราจึงสร้างทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อทดแทนโฟม เป็นต้น”
คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “BC4C ในปีที่12 มาพร้อมกับแนวคิด “Champions of the Future Drive: แชมป์ผู้ขับเคลื่อนอนาคต” เราให้ความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาคืออนาคตของชาติ เขาคือคนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมท่ามกลางโลกที่มีพลวัตและความไม่แน่นอน ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ SE ในประเทศไทย เรามีความมั่นใจในกระบวนการคัดเลือก และองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งกรรมการและเมนเทอร์ว่าจะสามารถนำพาผู้ประกอบการ SE ให้เพิ่มศักยภาพตัวเองเพื่อไปต่อยอดกิจการให้สามารถช่วยเหลือคุณภาพชีวิตผู้คนได้ต่อๆ ไป”
ด้าน คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion กล่าวเสริมว่า “โครงการ BC4C ได้บ่มเพาะและผลักดันผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยที่มีหลากหลายครอบคลุมหลายมิติทางสังคมและมีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะผู้ร่วมดำเนินโครงการและในฐานะกรรมการที่ได้ร่วมคัดสรร SE รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและมีศักยภาพเข้ามาร่วมบ่มเพาะ ติดอาวุธทางความคิดอย่างรอบด้านไปกับโครงการฯ เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผนึกกำลังสร้างเครือข่าย SE ในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไปอีกด้วย”