วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 14:58น.

ไทยประกันชีวิตคงอันดับเครดิตทางเงินสากล A- จากฟิทช์ฯ ตอกย้ำสถานะธุรกิจแข็งแกร่ง

27 เมษายน 2023

        ไทยประกันชีวิตได้รับการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลที่ A- มุมมองมีเสถียรภาพจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ผลจากโครงสร้างการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสอง ขณะที่มูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ควบคู่กับการลงทุนที่มีเสถียรภาพ

        นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 4,400,000 ราย

        โดยในปี 2566 สถาบันจัดอันดับเครดิตทางการเงินระดับโลก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ได้ประกาศอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของไทยประกันชีวิตที่ ‘A-’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ โดยมีมุมมองที่มีเสถียรภาพ

        ฟิทช์ฯ ประเมินโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทฯ อยู่ในระดับแข็งแกร่ง และมูลค่าธุรกิจใหม่ (NBV) ที่ดี ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับบริษัทประกันชีวิตอื่นภายในประเทศไทย ซึ่งไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ มีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 14% เป็นอันดับที่สอง

        ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีความหลากหลาย ทั้งประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และประกันควบการลงทุน รวมถึงมีช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง ผ่านเครือข่ายตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 24,000 ราย ธนาคารพาณิชย์ และพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย โดยเบี้ยประกันชีวิตรวมของบริษัทฯ ในปี 2565 มาจากช่องทางตัวแทนฯ 70% ช่องทางธนาคารพาณิชย์ 20% และช่องทางอื่น ๆ 10%

        ด้านการดำเนินงาน บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างกำไรที่ดีในระยะยาว และไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2563–2565) โดยความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ มาจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ และลดสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ประกันออมทรัพย์ที่การันตีผลตอบแทนสูง รวมถึงกลยุทธ์การปรับราคาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ

        ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายอยู่ที่ 420% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% ขณะที่การประเมินด้วย Prism Model ของฟิทช์ฯ จากข้อมูลการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีฐานะเงินกองทุนที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ “ระดับแข็งแกร่งมากที่สุด” จากเดิมที่ระดับ “แข็งแกร่งมาก” ในปี 2564

        ขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลดลง โดยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 187% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จาก 212% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นผลมาจากการเพิ่มทุนจำนวน 1.33 หมื่นล้านบาท หลังจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และกำไรจากการลงทุนในตราสารหุ้น และตราสารหนี้ รวมถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

        ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของบริษัทฯ ยังคงมีระดับสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝากธนาคารที่สูงกว่า 80% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมถึงบริษัทฯ ยังมีความแตกต่างระหว่างอายุสินทรัพย์และหนี้สินที่ลดลงและต่ำกว่า 1 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย

        “บริษัทฯ มุ่งมั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกด้าน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เอาประกันภัยแบบเฉพาะบุคคล ตามนโยบายยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อให้สามารถดูแลผู้เอาประกันภัยตามสัญญากรมธรรม์ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นในฐานะบริษัทประกันชีวิตที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง” นางวรางค์กล่าว


คลิปวิดีโอ