คปภ. ผนึกพลังภาคอุตสาหกรรมประกันภัย-พันธมิตรธุรกิจ รณรงค์ความปลอดภัยทางถนนรับมืออุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปี 2566 ชู “4 RECHECK” คือ รีเช็คคน รีเช็ครถ รีเช็คเส้นทาง รีเช็คประกัน พร้อมเปิดตัวประกันภัย PA แฮปปี้สงกรานต์และประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง เป็นของขวัญให้กับคนไทยในเทศกาลสงกรานต์
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิด “โครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566” ของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และงานแถลงข่าวเปิดตัว “กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มแฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) และ กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์)” ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “RECHECK” โดยมุ่งเน้นให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารตรวจเช็คความพร้อม 4 สิ่งสำคัญก่อนออกเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ “เช็คคน” ตรวจสอบสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่ ง่วงไม่ขับและเมาไม่ขับ “เช็ครถ” ตรวจสอบสภาพรถ เครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย “เช็คเส้นทาง” ตรวจสอบเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุด สภาพถนนมีความปลอดภัย และการจราจรไม่หนาแน่น และสุดท้าย “เช็คประกันภัย” ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการตรวจสอบสภาพผู้ขับขี่ สภาพรถ และสภาพเส้นทาง โดยผู้ขับขี่ควรตรวจสอบความพร้อมของกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งการประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ รวมไปถึงการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุบุคคล การประกันภัยการเดินทาง เพื่อสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทาง ตลอดจนช่วยลดจำนวนและความรุนแรงอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และสื่อมวลชน เข้าร่วมการจัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนพร้อมกันทั่วประเทศ ในรูปแบบ On-site และผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ของสำนักงาน คปภ. เพื่อสร้างการรับรู้และสามารถเข้าถึงประชาชนทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดโครงการฯ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่ ร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัย และในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการในหลายส่วนเพื่อร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี 7 กิจกรรมสำคัญ ๆ คือ กิจกรรมแรก แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยในการขับเคลื่อนการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนตามนโยบายรัฐบาล กิจกรรมที่ 2 มอบของสนับสนุนโครงการความปลอดภัยทางถนนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ร่วมรณรงค์โครงการ เพื่อให้องค์กรเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อไป ทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความปลอดภัยโดยตรง เช่น หมวกนิรภัย และอุปกรณ์ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
กิจกรรมที่ 3 การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและการเปลี่ยนหลอดไฟสำหรับรถจักรยานยนต์ของประชาชนที่ไป ณ สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในการร่วมสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว กิจกรรมที่ 4 การออบูธนิทรรศการ จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ บูธของสำนักงาน คปภ. กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สมาคมภาคธุรกิจประกันภัยต่าง ๆ ตลอดจนบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ฯลฯ ซึ่งมีการนำเสนอเทคโนโลยีการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน และกิจกรรมเชิงสังคมในการร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมจำนวน 12 หน่วยงาน
กิจกรรมที่ 5 การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวคิดการรณความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผ่านผู้นำความคิดหรือ Influencer ในช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในครั้งนี้ หมอแล็บแพนด้าหรือ คุณภาคภูมิ เดชหัสดิน มาร่วมเผยแพร่ข้อมูลโครงการด้วย นอกจากนี้ CABB Bangkok ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแท็กซี่ร่วมเผยแพร่ข้อมูลการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน และกรมธรรม์ประกันภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของสำนักงาน คปภ. กิจกรรมที่ 6 การให้บริการประชาชนด้านการประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดช่วง 7 วัน อันตรายของเทศกาลสงกรานต์ (ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2566) ผ่านช่องทาง สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Chabot LINE @OICConnect และ
กิจกรรมที่ 7 การแถลงข่าวเปิดตัว 2 กรมธรรม์ใหม่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมไฮไลท์ของเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย 2 กรมธรรม์ คือ “กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มแฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) และ “กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์)” โดยมีความพิเศษกว่าทุกครั้ง คือมีการขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์ รับประกันภัยในช่วงอายุ 20-70 ปี แต่กรมธรรม์นี้ขยายความคุ้มครองให้ผู้เอาประกันภัยตั้งแต่อายุ 15-70 ปี ซึ่งจะครอบคลุมผู้ที่มีสิทธิทำประกันภัยเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านคน (รวมผู้มีสิทธิรับกรมธรรม์ฯ ประมาณ 50 ล้านคน) เพื่อมอบเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยให้กับคนไทยทั่วประเทศ
โดยกรมธรรม์แรก คือ “กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มแฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) ให้คุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท ผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 14 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท สำหรับผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจ้างพยาบาลพิเศษ อุปกรณ์ค้ำยันต่าง ๆ (ยกเว้นไม้ค้ำยัน) รถเข็นผู้ป่วยอวัยวะเทียมภายนอกร่างกาย ค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) การฝังเข็ม จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท
และกรมธรรม์ที่สอง คือ “กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์) ให้คุ้มครองกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างเป็นคอนกรีต จำนวนเงินเอาประกันภัย 30,000 บาท ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 15,000 บาท ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารที่ไม่ใช่ตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้และไม่เป็นห้องแถวไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาท ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท ในกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจาก ลมพายุ/น้ำท่วม/แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด/คลื่นใต้น้ำ/สึนามิ/ลูกเห็บ ทุกภัยรวมกันได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 1,000 บาท
โดยมีการขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว จำนวนเงินไม่เกินวันละ 300 บาท รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย การประกันภัยโจรกรรม คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ ที่อยู่อาศัยปัจจุบันของผู้เอาประกันภัย ความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง ที่ระบุร่องรอย ความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและ/หรือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนล็อคประตูหน้าต่าง จำนวนเงินเอาประกันภัยไม่เกิน 5,000 บาท
ทั้งนี้กรมธรรม์ทั้ง 2 ประเภท เป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 30 วัน ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายมีสิทธิได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1 กรมธรรม์ ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย เท่านั้น ผู้สนใจสามารถรับสิทธิ ได้จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 2 ประเภทในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้กับประชาชน โดยมีการจัดทำ 3 กิจกรรมต้นแบบเพื่อนำร่องในปีนี้ ซึ่งสามารถสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ได้ฟรีประกอบด้วย กิจกรรมแรกผ่านหน่วยงานความร่วมมือ (MOU) ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง และกรมการขนส่งทางบก ประชาชนที่ทำงานในการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กิจกรรมต้นแบบที่ 2 ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครทั่วประเทศ ทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย อาสาสมัครประกันภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อฟปร.) และอาสาสมัครเกษตรกร
และกิจกรรมต้นแบบที่ 3 ผ่านโครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย เนื่องจากปีนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองผู้สามารถรับสิทธิกรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์ ตั้งแต่อายุ 15 ปี บริบูรณ์ โดยปีนี้จะเริ่มนำร่องจากยุวชนที่ได้รับรางวัลจากโครงการอัฉริยะยุวชนประกันภัย ในปีที่ผ่านมา โดยโรงเรียน ที่นักเรียนชนะการประกวดระดับประเทศอันดับ 1-3 ประเภทเพลง ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค สระบุรี จังหวัดสระบุรี โรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม จังหวัดเลย และโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ประเภทหนังสั้น ได้แก่ โรงเรียนตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนหนองบัวพิทยาคม จังหวัดน่าน
“ผมเห็นว่าไม่ควรวัดความสำเร็จของการจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุของสำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยจากจำนวนตัวเลขการซื้อขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ ในช่วง 7 วันอันตราย เท่านั้น แต่เห็นว่าสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะภาคธุรกิจประกันภัย แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นของเครือข่ายต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจัดกิจกรรมมากขึ้นทุกปี โดยขยายออกไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูก อันจะสามารถช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ระบบประกันภัยสามารถเป็นกลไกที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทยปีนี้ ผมขอส่งความห่วงใยและความปรารถนาดีไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และอย่าลืมตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและวันหมดอายุของการประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) เพื่อความอุ่นใจตลอดการเดินทาง สำนักงาน คปภ. พร้อมดูแลทุกท่าน โดยการเปิดให้บริการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการประกันภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วง 7 วัน และอย่าลืม “RECHEK เช็คคน เช็ครถ เช็คเส้นทาง และเช็คประกัน” ทั้งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ LINE Official Account “คปภ. รอบรู้” @OICConnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย