วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 20:36น.

“ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” เดินหน้าสร้างบ้านสร้างเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตสุขประชา

16 มีนาคม 2023

        “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” เล็งนำ Sunk Cost และ Land bank ของการเคหะแห่งชาติ พัฒนาที่พักอาศัยในรูปแบบ PPP กับบริษัทลูกคือ K-HA หวังสร้าง‘เศรษฐกิจสุขประชา’

        นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติและประธานกรรมการ บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) “K-HA” เปิดเผยว่า มีแผนที่จะนำที่ดิน Sunk Cost และ Land bank บางแปลง เพื่อไปจัดทำโครงการบ้านรูปแบบ PPP กับบริษัทลูกคือ K-HA ภายใต้ชื่อโครงการบ้านเคหะสุขประชา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สร้างบ้านสร้างเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตสุขประชา”

        ปัจจุบัน โครงการบ้านเคหะสุขประชาจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัย พร้อมอาชีพที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจสุขประชา’ ซึ่งผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้จะมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยเน้น 6 อาชีพได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ศูนย์การค้าปลีก-ส่ง และตลาด

        “ชุมชนบ้านเคหะสุขประชา จะเน้นตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ชุมชนจะเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ก็สามารถส่งขายได้ จะมีตลาดรองรับ”นายทวีพงษ์ กล่าว

        นายทวีพงษ์ กล่าวว่า โครงการเคหะสุขประชาจะดำเนินการทั้งหมด 37 แปลง ซึ่งมีโครงการนำร่องที่โครงการเคหะสุขประชา ฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย และเศรษฐกิจสุขประชา ที่นี่จะเน้นเรื่องของตลาดเป็นหลัก ส่วนโครงการเคหะสุขประชาร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย จะเน้นในเรื่อง Minimal ขณะที่อีก 3 โครงการนำร่องในรูปของเศรษฐกิจสุขประชา ที่เน้นในเรื่องเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์ คือ โครงการวังน้อย จังหวัดอยุธยา จะเน้นเรื่องของการเลี้ยงไก่ โครงการธรรมศาลา ที่จังหวัดนครปฐม จะเน้นในเรื่องของการปลูกผักโฮโดรโปนิกส์ และโครงการที่ลำลูกกา คลอง 12 จังหวัดปทุมธานี จะเน้นเรื่องของการเลี้ยงปลาดุก

        ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมโครงการเร่งด่วนอีก 10 แห่ง ซึ่งจะมีทั้งที่สระบุรี และเชียงใหม่ รวมกับ 3 แปลงคือ วังน้อย ลำลูกกา และธรรมศาลา ซึ่งได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาในการออกแบบและวางผังที่ดินในพื้นที่ให้เหมาะสมทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย และอาชีพ ส่วนอีก 22 แปลงที่เหลือ กคช.อาจจะดำเนินการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปบ้างโดยยึดจากรูปแบบแพลตฟอร์มที่บริษัทที่ปรึกษาทำให้ 13 แปลง ซึ่งยังไม่สรุปชัดว่าจะเน้นเศรษฐกิจในรูปแบบใด

        “มีชาวบ้านที่สนใจโครงการบ้านพร้อมอาชีพทางภาคใต้ อยากเลี้ยงกบเนื้อ เพราะได้ราคา สร้างรายได้ดีด้วย ต้องมาดูกันว่าจะมีหรือไม่ เท่าที่สำรวจโครงการที่เน้นเป็นพื้นที่ปลูกกัญชง จะได้รับความสนใจมากที่สุด”

        สำหรับโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพมีแบบบ้านให้เลือกทั้งหมด 4 แบบ ประกอบด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มผู้มีสถานะโสด กลุ่มครัวเรือนใหม่ และกลุ่มครอบครัว ซึ่งวันนี้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปจองในระบบออนไลน์ที่บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด ได้ เพียงแต่ผู้ที่จะเข้าโครงการนี้ได้ต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่เข้าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น

        “เราทำโครงการเคหะสุขประชาบ้านเช่าพร้อมอาชีพไปก่อน เมื่อทุกอย่างเดินหน้าได้แล้ว การเคหะอาจจะขยายไปสร้างบ้านขายให้กลุ่มคนต่างๆ ในที่ดินที่เหลือได้ด้วย เพราะที่ดินแต่ละแห่งมีจำนวนมาก และสามารถจัดทำเป็นเฟสได้”

        นอกจากนี้ ยังมีโครงการบ้านผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Wellness Center ) ซึ่งต้องการให้ข้าราชการที่เกษียณอายุ ที่เคยอยู่บ้านพักราชการสามารถมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเองหลังเกษียณ ซึ่งได้เตรียมพื้นที่บริเวณ อ.สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาไว้แล้ว เป็นที่ดินทำเลดี อยู่ติดถนน และที่พื้นที่ไนท์ซาฟารี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา รวมไปถึงโครงการ TOD ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงข่ายคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ดินแบบ Mixed Use ที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง มีออฟฟิศสำนักงาน ที่เดิมคาดว่าจะเริ่มที่คลองจั่น เป็นต้น

        นายทวีพงษ์ กล่าวอีกว่า มีผู้ประกอบการภาคเอกชน และเจ้าของที่ดินหลายแห่งได้ให้ความสนใจโครงการบ้านพร้อมอาชีพ โดยเฉพาะเอกชนที่เชียงราย ยินดีมอบที่ดินให้ทำรูปแบบเศรษฐกิจด้านการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งเขาอยู่ในสมาคมโคเนื้อ ที่จะส่งออกไปเมืองนอกได้ เมื่อทุกอย่างเดินหน้าได้เอกชนจะพัฒนาโครงการเองในที่ดินที่เหลือต่อไป รวมไปถึงการนิคมอุตสาหกรรม มีการหารืออยากให้บริษัทเคหะสุขประชาไปสร้างอาคารเช่าให้แรงงานในนิคมเป็นเวลา 30 ปี แต่ปรากฏว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งมีข้อท้วงติงจากหน่วยงานรัฐด้วยกันว่า บริษัทเคหะสุขประชา เป็นบริษัทลูก กคช. จะดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยแข่งกับ กคช.ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ กคช.และบริษัทลูก ต้องนำข้อท้วงติงไปศึกษาและหาวิธีการแก้ไขต่อไป


คลิปวิดีโอ