วิริยะประกันภัย เดินหน้าพัฒนางานบริการไม่หยุดยั้ง ประกาศแผนงานปี 2566 “ปีแห่งนวัตกรรมบริการ : ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” เผยการมุ่งมั่นพัฒนางานบริการที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2564 ซึ่งเติบโตอยู่เพียง 1.6% แต่ปีที่ผ่านมากลับเติบโตถึง 5.78% สูงกว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ซึ่งประเมินกันว่าจะเติบโตที่ 3.5-4.5% โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 40,991 ล้านบาท ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าลูกค้าทะลักขึ้นแท่นเบอร์ 1 เหมือนเดิม ส่วนเป้าหมายปี 66 ตั้งเป้าเติบโต 6% ด้านสถานะทางการเงินยังคงเข้มแข็ง แต่สินทรัพย์ยังคงที่ในระดับเกือบ 70,000 ล้านบาท ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนยังคงเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 154.97%
นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาผู้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายและไม่สามารถควบคุมได้ และเลือกใช้ระบบประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง จึงกลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งประเมินกันว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3.5-4.5% ส่วนการดำเนินงานของวิริยะประกันภัยในรอบปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังมีต่อวิริยะประกันภัย และตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของธุรกิจประกันวินาศภัย โดยในปี 2565 วิริยะประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 40,991 ล้านบาท เติบโต 5.78% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,847 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือนอนมอเตอร์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 5,144 ล้านบาท
“ในขณะที่สถานะการเงินวิริยะประกันภัยยังคงมีความมั่นคงเหมือนเดิม โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่ 69,946.94 ล้านบาท ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 154.97%” นายอมรกล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 นี้ นายอมรเปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 ไว้ประมาณ 43,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 6% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 37,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 5% เบี้ยประกันภัยนอนมอเตอร์ประมาณ 5,700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 11%
นายอมรเปิดเผยต่อไปอีกว่า ส่วนกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 66 นี้จะอยู่ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งนวัตกรรมบริการ : ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มเติมต่อยอดพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมบริการ โดยจะมุ่งเน้นให้หน่วยงานของบริษัทฯ ที่มีเครือข่ายอยู่ทุกทิศทั่วไทยมีมาตรฐานทางเทคโนโลยีเดียวกัน มีนวัตกรรมบริการที่สอดรับความต้องการแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ได้วางเป้าประสงค์หลักไว้ 3 เป้าหมายด้วยกัน คือ เป้าหมายด้านช่องทางการขาย ด้วยการยกระดับให้สำนักงานมาตรฐานตัวแทนเป็นสำนักงานดิจิตอล สามารถออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้ด้วยตัวของสำนักงานเอง ทั้งกรมธรรม์ตัวจริงหรือกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งตรงถึงมือถือลูกค้าทันทีที่ได้มีการตกลงทำสัญญาประกันภัย นั่นก็หมายความว่า จะเกิดความสะดวกทั้งตัวแทนวิริยะประกันภัย และลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปมาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ลูกค้ายังมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองแน่นอนและทันทีที่ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัย
ในขณะที่เป้าหมายด้านการบริการสินไหมทดแทน นอกจากระบบเคลมออนไลน์ “VClaim on VCall” ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายบริการไปทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้วิริยะประกันภัยยังคงขยายพื้นที่ให้บริการที่เรียกกันว่า “จุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุ” ออกไปทั่วไทย ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นตัววิเคราะห์เพื่อหาจุดสมดุลบริการอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังได้จัดหา AI มาทำหน้าที่ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ควบคู่กับพนักงานสินไหมทดแทนที่มากประสบการณ์ เพื่อที่จะได้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
อีกเป้าหมายหนึ่งคือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันวิริยะประกันภัยได้สร้างผลิตภัณฑ์สนองรับความต้องการได้หลากหลายครอบคลุมทุกความเสี่ยงภัย รวมแล้วกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากการใช้กลยุทธ์ในปีที่ผ่านมา “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย” ประกอบกับวิริยะประกันภัยมีจุดแข็งอยู่ที่ฐานข้อมูล ซึ่งมีฐานลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงทำให้การทำงานวิจัยเพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภคสามารถทำได้ลึก และในปีนี้จะลงลึกถึงความต้องการของผู้คนในแต่ละภูมิภาคเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยรถยนต์หรือประกันภัยสุขภาพที่ลงลึกถึงการตลาดแบบ Personalization ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองเฉพาะตัวและตรงข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล
ส่วนทางด้านการรับประกันภัยรถไฟฟ้า นายอมรกล่าวว่า วิริยะประกันภัยได้เตรียมความพร้อมมากว่า 4 ปีแล้ว โดยได้ศึกษามาตั้งแต่วิวัฒนาการจากรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด จนมาสู่ระบบไฟฟ้าเต็มตัว ซี่งเป็นการพัฒนาร่วมกันกับผู้ประกอบการ ตลอดไปถึงสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้ อีกทั้งความรู้ที่ได้รับและผลพันธ์ที่ได้พัฒนาร่วมกันดังกล่าว ได้ส่งต่อไปเป็นองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านสินไหมทดแทน และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย ซึ่งในปีนี้จะขยายองค์ความรู้ไปยังกลุ่มตัวแทนนายหน้าในสังกัดอีกด้วย โดยในปัจจุบันวิริยะประกันภัยได้ให้ความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 5,286 คัน และยังคงเป็นบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน
“ต้องยอมรับว่าเราเริ่มก้าวสู่โลกแห่งความไม่แน่นอนเต็มตัว และจะทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยมากขึ้น และต้องหมายรวมไปถึงความต้องการด้านบริการที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี จึงถือเป็นหน้าที่และความท้าทายของวิริยะประกันภัยที่ต้องพร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองซับซ้อนขึ้น ตลอดไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เกิดประสบการณ์ที่ดีในทุก Touch Point และเกิดความเชื่อมั่นในคำนิยามที่ว่า “ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” นายอมรกล่าว
ทางด้าน นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านบริการว่า ในรอบปีที่ผ่านมาวิริยะประกันภัยได้พัฒนาเทคโนโลยี ส่งมอบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวแทนและคู่ค้า เพื่อสร้างคุณค่าที่แตกต่างส่งมอบให้กับลูกค้า ดังเช่นในปัจจุบันนี้สำนักงานตัวแทนวิริยะประกันภัยสามารถใช้โปรแกรมออกกรมธรรม์เองได้เลย รวมถึงระบบตรวจสภาพรถยนต์ผ่านออนไลน์ก่อนทำประกันภัยอีกด้วย นั้นก็หมายความว่าลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองที่รวดเร็วและเชื่อถือได้
ในขณะที่งานบริการหลังการขาย โดยเฉพาะการบริการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานของวิริยะประกันภัย จนได้รับการยอมรับและยังคงเป็นบริษัทประกันวินาศภัยอันดับ 1 มาจนทุกวันนี้ ดังนั้นวิริยะประกันภัยจึงเดินหน้าสานต่อนโยบายบริหารสินไหมแบบองค์รวม กล่าวคือ ดูแลทุกองค์ประกอบสำคัญของงานสินไหมซึ่งความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและสอดประสานกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้แก่ เครือข่ายศูนย์บริการสินไหม (Network), บุคลากร (People) , ข้อมูล (Data) และนวัตกรรม (Innovation) หรือ NPDI
โดยงานเครือข่ายศูนย์บริการสินไหม (Network) วิริยะประกันภัยได้ขยายเครือข่ายศูนย์บริการสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย ง่ายในการเข้าถึงบริการ เช่น เปิดจุดบริการเคลื่อนที่เร็วในย่านการจราจรที่หนาแน่น หรือ จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เช่น สถานีบริการน้ำมัน พื้นที่ชุมชน ศูนย์การค้า เส้นทางจราจรหลัก ฯลฯ เพื่อสร้างจุดสมดุลบริการอย่างไร้รอยต่อ ในขณะที่งานพัฒนาบุคลากร (People) แม้โลกทุกวันนี้จะก้าวล้ำพัฒนาไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับธุรกิจประกันภัย การดูแลคนด้วยคนถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เนื่องจากขณะที่ต้องประสบอุบัติเหตุ หรือการสูญเสีย การดูแลเอาใจใส่ผู้เอาประกันภัยด้วยพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นอย่างดี มีความเป็นมืออาชีพ ย่อมช่วยให้ผู้เอาประกันภัยอุ่นใจ และเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลช่วยเหลือให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์คับขันไปได้ด้วยดี
“โดยเฉพาะพนักงานสำรวจอุบัติเหตุของวิริยะประกันภัย หรือ ที่รู้จักกันในนาม “พนักงานเคลม” คือ Touch Point สำคัญในการส่งมอบบริการสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย พนักงานเคลมทั้งหมดจำนวนกว่า 1,400 คน เป็นพนักงานของบริษัทฯ เราไม่ใช้ Outsource ลูกค้าของเราต้องดูแลด้วยคนของเรา พนักงานเคลมของวิริยะทุกคนผ่านการคัดเลือก ทดสอบความรู้ ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ด้วยหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเองจากการสั่งสมประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ความที่วิริยะคือเบอร์หนึ่งเรื่องประกันภัยรถยนต์ เรื่องสินไหมจึงเป็นงานที่เราเชี่ยวชาญ พนักงานเคลมของวิริยะได้รับรางวัลผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น หรือ “Best Surveyor Award” จาก สมาคมประกันวินาศภัยไทย อย่างต่อเนื่อง” นายสยมกล่าว
นายสยมเปิดเผยต่อไปอีกว่า ส่วนงานบริหารจัดการข้อมูล (Data Analytics) วิริยะประกันภัยได้พัฒนา “ระบบข้อมูลสินไหมอัจฉริยะ” (Intelligence Claim System by Big Data Analytics : BDA) โดยใช้จุดแข็งของวิริยะประกันภัยที่อยู่ในธุรกิจมายาวนานกว่า 76 ปี และครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทฯ มีข้อมูลสินไหมทดแทนจำนวนมากมาย ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เอาประกันภัยได้อย่างมากมาย หลากหลายแง่มุม ไม่เพียงเฉพาะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังช่วยในเรื่องการพัฒนางานสินไหมได้อย่างน่าทึ่ง เช่น การที่เรามีข้อมูลจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย บริษัทฯ จะร่วมมือกับภาครัฐในการรณรงค์หามาตรการลดหรือบรรเทาอุบัติภัยบนท้องถนน หรือ เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตามจุดใกล้เคียงเพื่อออกบริการสินไหมได้รวดเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการรอคอยของผู้เอาประกันภัย ฯลฯ
ในขณะที่งานสรรหาและพัฒนานวัตกรรมประกันภัยใหม่ ๆ (Innovation) ที่จะมาช่วยพัฒนาระบบงานสินไหม สนับสนุนการทำงานของพนักงานด้านสินไหม และสำคัญที่สุดคือเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้ผู้เอาประกันภัย วิริยะประกันภัยมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการขับเคลื่อนบริการสินไหมทดแทนด้วยนวัตกรรมด้านประกันภัยที่ทันสมัย เช่น การดูแลสินไหมรถยนต์ EV ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งโซนยุโรปและเอเชีย ต่างก็แข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ EV เนื่องจากได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย หลายค่ายทยอยเปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับวิริยะประกันภัย เรามีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการรองรับตลาดรถยนต์ EV ทั้งในส่วนบุคคล และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจชั้นนำ หรือแม้แต่องค์กรภาครัฐต่างก็หันมารณรงค์การใช้รถยนต์ EV เพื่อขับเคลื่อน Green Economy System สร้างเศรษฐกิจควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมไทยเติบโตแบบยั่งยืน
ส่วนแผนงานด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังจากการระบาดอย่างรุนแรงของโรคโควิด-19 มาหลายปี ซึ่งแนวทางการดำเนินงานมุ่งเน้นที่จะดูแลและพัฒนาการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไปให้สมกับความไว้วางใจจากลูกค้า เป็นปีที่มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบงานพื้นฐานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งการพัฒนาระบบ Core System ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัย รองรับการเติบโตของบริษัทฯ การปรับปรุง Website เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการตลาดแบบ Personalization Marketing เพื่อมอบประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลมากขึ้น การพัฒนาระบบ CRM เพื่อรองรับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งโครงการต่าง ๆ นี้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาในปี 2566 โดยจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2567 ส่วนการพัฒนาระบบ CRM ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนกลยุทธ์ที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ ระบบ CRM ในส่วนของการให้บริการ Call Center และการให้บริการต่ออายุประกันสุขภาพและอุบัติเหตุจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้มองว่า CRM นี้เป็นระบบที่ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการขยายผลเพื่อพัฒนาเพิ่มฟีเจอร์ในลำดับต่อไป
“สำหรับเป้าหมายปี 2566 วิริยะประกันภัยมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ด้วยการวางแผนขยายอัตราส่วนประกันภัย Non-Motor เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10.65% ประมาณการเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 5,694 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะขยายงานผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Line เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยอะไหล่รถยนต์ รวมถึงประกันภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย”
นางฐวิกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์ในการขยายงานประกันภัยส่วนบุคคลในปีนี้ของเรา คือ การต่อยอดจากช่องทางตัวแทน/นายหน้าที่เป็นช่องทางการขายที่มีศักยภาพสูงของบริษัทฯ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าจประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการเดินทาง และ ประกันอะไหล่รถยนต์ ที่สามารถนำเสนอควบคู่ไปกับประกันรถยนต์ภาคสมัครใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทฯ เองอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มฐานลูกค้าประกันภัยรถยนต์ของบริษัท โดยมุ่งเน้นที่จะดูแลค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมในทุกมิติ ด้วยการออกแบบแพ็กเกจที่ทำงานคุ้มครองคู่กัน ทั้งรถชนและรถเสีย คุ้ม ครบ จบที่วิริยะฯ ซึ่งก็จะเป็นแผนประกันภัยที่ตัวแทนนายหน้าสามารถนำไปเสนอขายได้ไม่ยากเช่นกัน
“ในขณะเดียวกันบริษัทเองยังมุ่งเน้นในการขยายงานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลูกค้า SME เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์ธุรกิจปลอดภัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ SME’s ที่จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง หากธุรกิจเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ประกันภัยธุรกิจปลอดภัยนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้ธุรกิจของลูกค้ายังคงดำเนินไปได้อย่างมั่นคง” นางฐวิกาญจน์ กล่าวในที่สุด