วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 05:39น.

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 26

28 กุมภาพันธ์ 2023

        บทพิสูจน์ความสำเร็จของการเดินทางสู่ความเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงด้วยการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น ซึ่งการสร้างสมดุลให้ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การพออยู่พอกิน หากแต่มุ่งสู่การสร้างความยั่งยืนด้วยการพัฒนาชุมชนสร้างให้เกิดความแข็งแรง จนขยายตัวไปจนถึงการเชื่อมโยงกับองค์กรใหญ่ เพื่อสร้างให้เกิดธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการลงมือทำกิจกรรมในห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอยู่ถึง 5,151 โครงการในพระราชดำริทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

        ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 26 โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเยี่ยมเยือนโครงการในพระราชดำริ และช่วยส่งเสริมให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น พาผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารองค์กร ร่วมศึกษาโมเดลความสำเร็จของเกษตรกร ที่สร้างตัวอย่างอย่างยั่งยืน ณ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้แนวทางโดยยึดหลัก “บวร” และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินกับธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

        “ความดี กู้เงินได้” เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเดินทางสู่ความเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืน คุณศิวโรฒ จิตนิยม หนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ประธานสถาบันการเงินชุมชน ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการพัฒนา “หนองสาหร่ายโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชน ด้วยการปรับเป้าหมายชีวิตจากเดิมที่ใช้ “เงิน” เป็นปัจจัยหลัก ให้ใช้ “ความสุข” เป็นเป้าหมายแทน คือการมีความสุขร่วมกันทุกคนในตำบลหนองสาหร่ายต้องมีความสุข และเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างความสุขคือ “ความดี” เทคนิคคือนำเอาคุณธรรมจริยธรรมและความรู้ความสามารถของทุกคนมาช่วยกัน ใครเก่งเรื่องอะไรให้ทำเรื่องนั้นโดยใช้กระบวนการร่วมกันคิดร่วมกันทำ ช่วยให้เดินไปสู่จุดหมายได้ตรงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันหนองสาหร่ายมีสถาบันการเงิน เรียกว่าธนาคารความดี ด้วยหลักคิดง่ายๆ คือถ้าใครทำความดี สามารถเอาความดีมาทำค้ำประกันเงินกู้ได้ ตามหลัก 23 ข้อของธรรมนูญความดีชุมชน เช่น ถ้าใครมีความดี 4 ข้อ กู้ได้ 20,000 บาท / 8 ข้อได้ 40,000 บาท / 10 ข้อ ได้ 60,000 บาท หรือทำดี 18 ข้อ กู้ได้ 15,000 บาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และถ้าความดีครบ 23 ข้อ สามารถกู้ได้ 20,000 บาทไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และหลังจากนำธนาคารความดีเข้ามาใช้ ช่วยให้หนี้นอกระบบ หายไปจากตำบลหนองสาหร่ายได้ภายในระยะเวลา 3 ปี สิ่งนี้คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนมากสำหรับเส้นทางสู่ความเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืนและมีความสุข

        อีกหนึ่งตัวอย่างโมเดลความสำเร็จสู่การเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืนของไร่นาสวนผสมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ คุณชรินทร์ กลั่นแฮม เกษตรกรที่ยึดหลักการพัฒนาตามแนวทางของโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการบูรณาการของภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาที่ดินทำกินให้มีความอุดมสมบูรณ์จนมีความเหมาะสมสำหรับการเกษตร ชรินทร์เล่าให้ฟังว่า “ เรา ปลูกพืชทุกชนิดที่กิน กินพืชทุกชนิดที่ปลูก เหลือก็นำออกขาย บนพื้นที่ 8 ไร่สามารถปลูกไม้ผลนานาชนิดให้อยู่ด้วยกัน ทั้ง มะม่วง มะละกอ ขนุน ชมพู่ ลำไย พืชผักสวนครัว และอื่นๆ แต่ที่ทำรายได้อย่างต่อเนื่อง คือ ฝรั่ง ที่มีผลผลิตออกทั้งปี โดยทุกๆ 10 วันสามารถเก็บเกี่ยวผลฝรั่งได้ 3 ตัน หรือ 3,000 กิโล ส่งตลาดในราคาขายส่งได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35 บาท คำนวณคร่าวๆ เฉพาะผลไม้ฝรั่งทำรายได้ให้เป็นแสนต่อเดือน หลักคิดอีกเรื่องที่ ชรินทร์ ให้คำแนะนำคือ อย่านำรายได้ที่เราได้มาใช้ทั้งหมด เราต้องเก็บออมไว้ ส่วนหนึ่งก่อนค่อยใช้เงิน”

        ส่วนหนึ่งของ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาจารย์ ไตรภพ โคตรวงษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ให้ความเห็นว่า “มีความสนใจในเรื่องการนำเอาแนวคิดจากวิทยากรและโมเดลหนองสาหร่าย ไปปรับใช้ อาทิ ในเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านเพราะปัญหาหลักของชาวบ้านขณะนี้คือหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ อีกทั้งสามารถดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความยากจนของชุมชน โดยจะนำไปวางแผนและพัฒนา ต่อยอดขยายผลกับชุมชน ในตำบลวังเย็น จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดไอเดียและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนอาจารย์และวิทยากร นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมาก”

        นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความภาคภูมิใจในการทำโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา คือการที่เราได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคม ซึ่งในการทำกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเยี่ยมชมและศึกษาโครงการของภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ จากการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างให้เกิดธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นบทพิสูจน์ของหลักการ “ทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น” ที่สร้างความเป็นเศรษฐีได้อย่างยั่งยืน และทำให้ทุกคนเห็นภาพความเชื่อมโยงในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับเป้าหมายการพัฒนา 17 ข้อของสหประชาชาติ UNSDG 2030

        นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้รับความรู้จากกกิจกรรม Mind Spa เปิดหัวใจสู่การเรียนรู้ รับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และร่วมกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป


คลิปวิดีโอ