ไฮเออร์ เผยผลประกอบการปี 65 ที่ท็อปฟอร์มต่อเนื่อง และมีรายได้เติบโต 19% จากปีที่แล้ว แม้ว่าภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่สดใส พร้อมเปิดเกมรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตรียมทุ่มงบการตลาด กว่า 1,000 ล้านบาท ปูพรมทำการตลาดแบบ 360 องศา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย ของทั้ง 4 แบรนด์ นำทีมโดย Haier, Casarte, Candy และ Yudee
มร. ติง กุ้ยเจี้ยน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2565 ยังมียอดขายลดลงถึง 7% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ เศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่มีการขยายตัวต่ำ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จีดีพี ปี 2565 อยู่ที่ 3.3% เท่านั้น และตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงถึง 7%”
“อย่างไรก็ตาม แม้ทั่วโลกและประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ผันผวน และยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ แต่ภาพรวมผลประกอบการของไฮเออร์ ยังสร้างการเติบโตได้อย่างน่าพอใจ โดยในปี 2565 สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 10,000 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 19% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเกิดจากการที่ ไฮเออร์ ทำการคิดค้นเทคโนโลยีและปรับ กลยุทธ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด และความต้องการของผู้บริโภค พร้อมตั้งเป้ายอดขายปี 2566 ที่ 12,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มอีก 20% และในปี 2568 ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้น โดยการดันยอดขายเติบโตขึ้นอีก 2 เท่าตัว และยึดอันดับ 1 ในตลาดประเทศไทย”
ทั้งนี้ เมื่อแบ่งการเติบโตตามหมวดหมู่สินค้าปี 2565 เทียบกับปี 2564 พบว่ายอดขายยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าทุกหมวดสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าพอใจ อาทิ
· เครื่องปรับอากาศไฮเออร์ ผลิตภัณฑ์เรือธงของบริษัท สร้างยอดขายรวมกว่า 3,500 ล้านบาท (เติบโต 14 %)
เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดรวมเครื่องปรับอากาศตกลงไป 6% เท่านั้น นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศไฮเออร์ได้ขยับขึ้นเป็น “ผู้นำอันดับ 1” มีส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงปริมาณถึง 13.7% ยอดขายเติบโต 9% และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดเชิงปริมาณเติบโตถึง 15.4%
· ตู้เย็นไฮเออร์ ยอดขายรวมคิดเป็น 2,000 ล้านบาท (เติบโต 30%) มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 13%
จากเดิม 12.1% การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ ทำให้ไฮเออร์ขยับเป็นท็อป 3 ของตลาดในประเทศไทย ซึ่งตู้เย็น
ในหมวดไฮเอนด์นั้นเป็นที่ 1 ของตลาด ด้วยสัดส่วน 33% ของตลาดในแง่ของปริมาณ
· เครื่องซักผ้าไฮเออร์ ภาพรวมของตลาดเติบโตเพียง 5% แต่ไฮเออร์กวาดยอดขายรวมเกือบ 1,400 ล้านบาท (เติบโต 18%) ทำให้เครื่องซักผ้าไฮเออร์มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในลำดับที่ 3 ของตลาดเครื่องซักผ้าประเทศไทย โดยสินค้าในหมวดเครื่องซักผ้าฝาหน้าเติบโตถึง 61.7% ส่วนเครื่องซักผ้าฝาบนเติบโต 40.2%
· ตู้แช่ไฮเออร์ ยอดขายรวมคิดเป็น 990 ล้านบาท (เติบโต 25%) มีส่วนแบ่งทางการตลาดและยอดขายเป็นอันดับ 1 ของตลาดตู้แช่ประเทศไทย
· ทีวีไฮเออร์ ยอดขายรวม 560 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดขายตลาดรวมจากปีที่แล้ว โตถึง 38% โดยมีทีวีไฮเออร์ รุ่นขนาด 55 นิ้ว สร้างยอดขายโตถึง 120%
· เครื่องครัวไฮเออร์ มียอดขายเติบโตสูงถึง 302% จากปีที่แล้ว
· เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กไฮเออร์ ยอดขายรวม 208 ล้านบาท (เติบโต 530%) โดยมีการเพิ่มไลน์สินค้าในหมวดนี้ เช่น เตาแม่เหล็กไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เครื่องปั่น และเตาอบ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น
· เครื่องทำน้ำอุ่นไฮเออร์ ยอดขายรวมคิดเป็น 208 ล้านบาท (เติบโต 32%) มากกว่าตลาดรวมที่เติบโตเพียง 14% เนื่องจากไฮเออร์เน้นทำการตลาดกลุ่มเครื่องทำน้ำอุ่นมากขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงกลยุทธ์ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2566 ว่า “ปัจจุบัน Haier Group มีแบรนด์ในเครือถึง4 แบรนด์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม เริ่มจาก Haier ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัวที่มองหาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ โดยมีแผนเพิ่มสาขาของศูนย์บริการ และแฟลกชิพสโตร์ เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงดีลเลอร์และโมเดิร์นเทรด โดยในปีหน้าจะมุ่งไปทำกิจกรรม Sport Marketing มากขึ้นเพื่อส่งเสริมเรื่องสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ถัดมาคือ Casarte แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับลักชัวรี ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงปี ยังคงมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์ทาง Social media และการจัดกิจกรรม Exclusive event เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปตามหัวเมือง ในแต่ละภูมิภาค ควบคู่กับการใช้ KOLs มาช่วยเป็นกระบอกเสียงในการแนะนำแบรนด์ให้คนรู้จักในกลุ่มเป้าหมายระดับลักชัวรี ขณะที่ Candy แบรนด์ยอดนิยมของวัยรุ่นจะเน้นเจาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เริ่มการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์ จากปกติที่สามารถซื้อผ่านทาง E-commerce เท่านั้น และปิดท้ายด้วย Yudee แอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเป็นเจ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT โดยไม่ต้องใช้เงินก้อน”