วันเสาร์ ที่ 21 กันยายน 2567 10:12น.

พาณิชย์ชูความสำเร็จรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นครบรอบ 30 ปี พร้อมพัฒนาและยกระดับหลักเกณฑ์ใหม่

22 กันยายน 2022

        กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชูความสำเร็จรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นหลังครบรอบ 30 ปี พร้อมพัฒนาหลักเกณฑ์และยกระดับรางวัลให้สอดรับเศรษฐกิจกระแสใหม่และเมกะเทรนด์ของธุรกิจสากล โดยเฉพาะนโยบายด้านความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ยังคงจำนวน 7 สาขา แต่ปรับชื่อเรียกในบางสาขาและเพิ่มประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น ช่วยขยายโอกาสในการรับรางวัลของผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงผลักดันในการพัฒนาสินค้าสำหรับแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

        นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการเร่งผลักดันโดยสร้างความเชื่อมั่นภาคการส่งออก และยกระดับ SME และ Micro SME ด้วยเครื่องมือทางการตลาด สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้าต่อสินค้าและบริการโดยผู้ส่งออกไทย โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านฑูตพาณิชย์เร่งรัดการส่งออกทั้งเชิงรุกและเชิงลึก เพื่อสร้างรายได้จากการส่งออกให้มากที่สุด เดินหน้าให้ได้ตัวเลขส่งออก 9 ล้านล้านบาท ผ่านการจัดคู่เจรจาธุรกิจ เร่งรัด Mini-FTA ส่งเสริมการค้าระบบออนไลน์ การนำซอฟพาวเวอร์ใส่ในสินค้าและบริการของไทย และรวมถึงการให้ความสำคัญด้าน BCG เพื่อสร้างภาพลักษณ์การค้าและการผลิตที่ยั่นยืน และได้กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 30 ปี รางวัล PM’s Export Award เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกอบธุรกิจส่งออกที่ยอดเยี่ยม และรางวัลนี้ แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการในแต่ละปี ที่ได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยจะเห็นได้จากผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลล่าสุด ในปี 2564 จากทุกสาขาทั้ง 42 รางวัล มีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศในปี 2563 ได้ถึง 19,910 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.28 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมและยังทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศไม่ต่ำกว่า 14,639 คน

        นับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 – 2564 รางวัลนี้ ได้สร้างผู้ประกอบการยอดเยี่ยมใน 7 สาขารวมแล้วกว่า 787 รางวัล ได้แก่ (1) รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม : Best Thai Brand (2) รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม : Best Design (3) รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม : Best Exporter (4) รางวัลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม : Best Service Enterprise Award (5) รางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม : Best OTOP (6) รางวัลสินค้านวัตกรรมยอดเยี่ยม : Best Innovation และ (7) รางวัลสินค้าฮาลาลยอดเยี่ยม : Best Halal ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัลนั้น คณะกรรมการได้พิจารณาจากหลักการบริหารองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาเพื่อขยายฐานลูกค้าและการตลาด การวัดการวิเคราะห์และการจัดการความรู้ บุคลากร และความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจ โดยสาขารางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) มีผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดถึง 237 รางวัล พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการ SMEs & OTOP คุณภาพระดับส่งออก และมอบโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าการส่งออก และสร้างรายได้กลับเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนข้อมูลผู้ได้รับรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม Best Exporter จะพบว่าตลอด 30 ปี มีผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ ถึง 122 รางวัล และย้อนดูข้อมูลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2564) พบว่าสาขารางวัลดังกล่าวมีสุดยอดผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในแต่ละปีเฉลี่ย 5-9 รางวัล รวม 41 บริษัท ซึ่งได้สร้างมูลค่าส่งออกและรายได้ให้กับประเทศสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยปี 2560 มูลค่า 4,908 ล้านบาท ปี 2561 มูลค่า 40,147 ล้านบาท ปี 2562 มูลค่า 2,356 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่า 4,835 ล้านบาท และ ปี 2564 มูลค่า 8,835 ล้านบาท

        นายภูสิต กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริบททางเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไป เกิดเมกะเทรนด์ใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ กรมยังคงมุ่งมั่นพัฒนารางวัลให้ทันสมัย สอดรับต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกและการปรับตัวสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์และการสร้างแบรนด์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กรมจึงเล็งเห็นว่า เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของรางวัล PM’s Export Award เห็นควรยกระดับรางวัลและปรับแนวทางการมอบรางวัลให้รองรับการการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 13 วาระแห่งชาติ BCG Economy Model และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และยกระดับรางวัลให้ทันสมัย สำหรับรางวัล ในปี 2566 ทั้ง 7 สาขา โดยให้ความสำคัญของนวัตกรรมและความยั่งยืนในหลักเกณฑ์ของทุกสาขารางวัล อีกทั้งได้เพิ่มรางวัลด้าน BCG และเพิ่มสาขาย่อยของรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) กลุ่มผลงานกราฟิกดีไซน์ ได้แก่ ประเภท Illustration /Character/ Digital Art เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล และสำหรับรางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) อาจขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกรายย่อยยอดเยี่ยมด้วย (Best OTOP Plus Micro SME)”

        สำหรับในปี 2565 กรมได้ทบทวนหลักเกณฑ์และยกระดับรางวัลใหม่ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว กรมได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองภายใต้แนวคิด Proud Past – Inspired Future ธุรกิจไทยที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน โดยได้มอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ Best of the Best แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการส่งแบบสอบถามและสำรวจความก้าวหน้าของผู้ได้รับรางวัลทั้ง 257 บริษัท ปัจจุบันมีผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ 232 บริษัท และมีจำนวน 67 บริษัทที่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการจากภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องได้ทำการคัดเลือก 34 บริษัท ที่มีการพัฒนายกระดับธุรกิจ มีการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ อาทิ การพัฒนาด้านการออกแบบ ด้านนวัตกรรม ด้านการสร้างแบรนด์ การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG (เศรฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ Best of the Best จากหลากหลายอุตสาหกรรมและขนาดธุรกิจ แบ่งเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (S) 8 บริษัท ขนาดกลาง (M) 8 บริษัท และขนาดใหญ่ (L) 18 บริษัท โดยมูลค่าการส่งออกของผู้ที่ได้รับการชูเกียรติทั้ง 34 บริษัท ในปี 2565 ช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน) คิดเป็นมูลค่า 21,225 ล้านบาท โดยบริษัทขนาดเล็ก (S) 8 บริษัท มูลค่าการส่งออกรวม 66,711,111 บาท (ร้อยละ 0.33) / บริษัทขนาดกลาง (M) 8 บริษัท มูลค่าการส่งออกรวม 735,107,807 บาท (ร้อยละ 3.46) / บริษัทขนาดใหญ่ (L) 18 บริษัท มูลค่าการส่งออกรวม 20,421 ล้านบาท (ร้อยละ 96.21)

        นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมปาฐกถาหัวข้อ “เส้นทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน” (A Business Path Towards Sustainability)” จากผู้บริหาร 12 บริษัท ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ (The Inspirers) พร้อมทั้งจัดนิทรรศการแสดงผลสำเร็จและผลงานของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเพื่อส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในด้านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

        “รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับผู้ประกอบการทั้งสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกได้เปิดตลาดต่างประเทศโดยใช้ชื่อทางการค้าของตนเอง เกิดการพัฒนารูปแบบสินค้าที่เป็นของผู้ส่งออกและออกแบบโดยคนไทย สร้างชื่อเสียงทางการค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในตลาดต่างประเทศ และผู้ที่ได้รับรางวัลยังมีความภาคภูมิใจจากการได้รับจากผู้นำประเทศซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของผู้ประกอบการด้วยเช่นกันว่าได้พัฒนาตนเองมาจนถึงจุดที่สูงขึ้น สามารถแข่งขันและรักษาตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งกรมหวังจะสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับรางวัล รวมถึงผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับรางวัลได้มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าและผู้ซื้อจากต่างประเทศเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้ส่งออกของไทยที่ได้รับรางวัลในการผลิตสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้นต่อไป” นายภูสิต กล่าวทิ้งท้าย


คลิปวิดีโอ