คนไทยในอนาคต ต้องมีศักยภาพในการร่วมกันพัฒนาประเทศ สามารถปรับตัวรองรับบริบทการพัฒนา มีความพร้อมทั้งกายใจ สติปัญญา มีทักษะในการวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีจิตสำนึกวัฒนธรรมที่ดีงามและคุณค่าความเป็นไทย มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงของชุมชน องค์กร สังคม และประเทศชาติ เพื่อสนับสนุน และสร้างความพร้อมในการพัฒนา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 20” โดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำครูอาจารย์และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ในวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 ณ โครงการศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร โดยให้ความสำคัญกับ การตามรอยเจ้าหญิงนักพัฒนา ศึกษาวิถีการทำเกษตรกรรม ในการลงพื้นที่เพื่อ”ลงมือทำ”กิจกรรมในโครงการ อาทิ การปลูกพืชผัก การตัดต่อตอนกิ่งพืชผล การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโคนมเป็นไอศกรีม การสร้างความเข้าใจในเรื่องการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยพันธุ์พืช และดูแลสังคม ชุมชน เป็นการเรียนรู้อย่างครบวงจรเพื่อการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคน” เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการ “ระเบิดจากข้างใน” เป็นหัวใจสำคัญที่สุด โดยมี คุณสิงหราช วงษ์เสงี่ยม ปลัดจังหวัดพิจิตร ให้การต้อนรับและร่วมเป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน ความสำคัญนั้นอยู่ที่การเริ่มต้นพัฒนา “คน” กระตุ้นให้คนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม สร้างคนดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีร่วมพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่ดี เป็นองค์กรคุณธรรม และเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนสังคม ต่อเนื่องไปจนถึงการพัฒนาประเทศชาติเพื่อเกิดความยั่งยืน เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UN SDGs 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ได้ตามเป้าหมายในปี 2030 ทิพยประกันภัยห่วงใยทุกชีวิตในสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมร่วมส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับสังคม เพื่อสร้าง “สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยกิจกรรมในครั้งนี้ เรายังได้ร่วมกันไถ่ชีวิตเป็นมหาทาน มอบเป็ดไข่ พันธุ์ไทย จำนวน 500 ตัว และปลานิลจิตรดา ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาพระราชทาน จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่ ชาวบ้านตำบลเนินมะกอกกว่า 200 ครอบครัว ในจังหวัดพิจิตร อีกด้วย
ทั้งนี้ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “แนวทางในการพัฒนาองค์กรเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม มีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรมีบทบาทและสามารถในการสร้างคนดีเพื่อสังคมดี ส่งเสริมให้คนในองค์กร มีทัศนคติ วิธีคิด และการประพฤติปฏิบัติที่สะท้อนการมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีเหมาะกับสังคมไทยมากขึ้น ช่วยให้องค์กรมีคุณค่าและประสิทธิภาพประสิทธิผลในการดำเนินกิจการ เนื่องจากสมาชิกขององค์กรมีคุณธรรมมากขึ้น”
“โดย ครู อาจารย์ และผู้บริหารที่เข้าร่วมกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 20 นี้ จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงาน องค์กร ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น องค์กรคุณธรรม ในจังหวัดพิจิตร โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ เกษม นวมครุฑ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบางมูลนาก มาร่วมถอดบทเรียนองค์กรคุณธรรม หัวข้อ ถอดบทเรียนโรงเรียนคุณธรรม : จุดกำเนิดแรงบันดาลใจ เพื่อการนำประสบการณ์ไปพัฒนา โรงเรียน หรือองค์กรของตนให้พร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนคุณธรรม หรือ องค์กรคุณธรรมต่อไปได้ในอนาคต” รศ. นพ. สุริยเดว กล่าวเพิ่มเติม
กระบวนการในการพัฒนาคุณธรรม แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินองค์กร ชุมชน อำเภอและจังหวัด คุณธรรมที่เป็นมาตรฐานกลาง ที่สามารถบ่งบอกถึงกระบวนการในการพัฒนาคุณธรรมที่ได้มาตรฐาน เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียงและสมานฉันท์รวมไทย เป็นหนึ่งเดียว
ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และประธานมูลนิธิธรรมดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “หลักการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรคุณธรรมได้น้อมนำหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักการ เริ่มต้นจากการระเบิดจากข้างใน ทำแบบองค์รวมคือมีเป้าหมายเดียวกันทั้งองค์กร ดำเนินการตามหลักความจริงมีการศึกษาปัญหาและต้นทุนความดีขององค์กร แก้ไขปัญหาจากจุดเล็กศึกษาเรียนรู้และปรับใช้ตามความเหมาะสมกับองค์กร สร้างโอกาสให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมเพราะเป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมคือการทำให้คนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมมากขึ้นจึงต้องให้ทุกคนเป็นพลังร่วมกันขับเคลื่อน ทำความดีเพื่อความดี ตั้งใจพัฒนาองค์กรคุณธรรมเพื่อสร้างองค์กรที่ดี สร้างคนดีเพื่อ สังคมดี มุ่งประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีเป้าหมายเคลือบแฝงเพื่อประโยชน์อื่น คาดหวังว่าจากการร่วมกิจกรรมของครู อาจารย์ และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ในเบื้องต้นจะเชิญชวนให้หน่วยงานที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนองค์กร ประกาศข้อตกลง (เจตนารมณ์/ธรรมนูญ/ปฏิญญา) ที่จะพัฒนาให้เป็นองค์กรคุณธรรม ต่อไปในอนาคต”
นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ และผู้บริหาร ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียนโดย อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครู อาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป