ราคาอาหารโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลของ FAO ที่รายงานว่าดัชนีราคาอาหารในเดือน พ.ค. 2022 อยู่ที่ 157.36 หรือเพิ่มขึ้น 22.8%YoY ส่งผลให้หลายประเทศตัดสินใจใช้นโยบาย Food Protectionism
Food Protectionism รอบนี้รุนแรงกว่าในอดีต โดยสัดส่วนปริมาณการค้าโลกในรูปของแคลอรี่ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการส่งออกคิดเป็น 18% ของปริมาณการค้าโลกในรูปของแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหารทั้งหมด สูงกว่าในช่วงวิกฤตอาหารปี 2008 และในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในปี 2020 ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ 12% และ 5% ตามลำดับ
โอกาสที่ไทยจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรในกลุ่มอาหารสัตว์ ทำให้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนในระยะยาวนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) ของหลายประเทศ อาจทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกสูงขึ้น
Krungthai COMPASS มองว่า ไทยควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ อีกทั้งภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน