กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ ย้ำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ผ่านนิทรรศการ “บ้านรักษ์โลก” ในงาน Earth Discovery : Uniting the Power for Our Planet “พลังจากทุกคน เพื่อเราเพื่อโลก” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงพลังงานและศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี ด้วยการนำ 3 โครงการเด่น ได้แก่ โครงการบ้านเบอร์ 5 โครงการชุมชนอัจฉริยะน่าอยู่อย่างยั่งยืน (SSC) บางโฉลง และโครงการบ้านเคหะสุขประชา ร่วมจัดแสดงภายในงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 2-30 มิถุนายน 2565 ณ ชั้น 3 ลานกิจกรรม Ecopedia ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564 – 2569 หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกด้าน มีความตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการใช้พลังงานในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริม “โครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย” หรือ “บ้านเบอร์ 5” โดยจัดทำโครงการนำร่องที่โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 จำนวน 415 หน่วย ซึ่ง กฟผ. ได้รับรองแบบตามเกณฑ์ของบ้านเบอร์ 5 รวมถึงทำการประเมินผลด้านการประหยัดพลังงานสรุปได้ว่า ประเทศไทยสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าประมาณ 415,000 หน่วยต่อปี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยประมาณ 1,660,000 บาทต่อปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 210 ตันต่อปี
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้ขยายความร่วมมือเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ภายใต้ “โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ SSC ในมิติที่แตกต่างกันจนสามารถเดินหน้าโครงการนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง (นิติ 1) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การติดตั้ง “Sensor for All” เครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมโมเดลการบริหารจัดการขยะและการทำถังหมักรักษ์โลก (Green Cone) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดการใช้พลังงานในครัวเรือนและชุมชน
และอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่เป็นมิติใหม่ของการมีบ้าน คือ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” หรือ “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ที่เป็นการพลิกโฉมประเทศไทยจากวิกฤตสู่โอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย มีอาชีพใหม่ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ มี 6 อาชีพ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก – ส่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย
นอกเหนือจากการจัดแสดงนิทรรศการ 3 โครงการดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ทำจากการรีไซเคิลขยะ ได้แก่ ไม้กวาดรักษ์โลก เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากโครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 10/2 ซึ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 100 % โดยนำขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 24 ขวด มาแปรรูปเป็นไม้กวาดรักษ์โลก ภายใต้สโลแกน “รักสะอาด ปราศจากมลพิษ คิดถึงหนูสักนิด ไม้กวาดรักษ์โลก” ทั้งนี้ โครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 10/2 เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย ซึ่งรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ทั้งปลูกผัก รับซื้อขยะรีไซเคิล รับซื้อน้ำมันเก่า รวมถึงการรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชนจนนำไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ “กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยการเคหะแห่งชาติได้สนับสนุนการฝึกอาชีพบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
“การขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) เป็นรูปแบบการพัฒนาที่เห็นได้ชัดในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งการบริหารจัดการภายในชุมชน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจภาคครัวเรือนและชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด