SEAC (ซีแอค) มุ่งมั่นเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ และหลักสูตรระดับเวิลด์คลาส ภายใต้วิสัยทัศน์ Empower Lives through Learning เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเลือกใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เดินต่อไปได้ไกลขึ้น จัดงานเสวนาออนไลน์ THE SKILLSVERSE: 2022’S HOTTEST HUMAN SOFT SKILLS เผยภาพทักษะ Human Soft Skills ที่สำคัญที่สุดของคนองค์กรแห่งปี 2022 เพื่อยกระดับศักยภาพผู้นำ บุคลากร และคนทำงานทุกระดับให้พร้อมก้าวนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ในยุคดิสรัปชั่น และเท่าทันโลกแห่งอนาคต
งานครั้งนี้นำทีมสำรวจจักรวาลแห่งทักษะของโลกยุคใหม่ โดยผู้นำทางความคิดด้านการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กร อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer and Managing Director, SEAC และบุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์ Product Director, SEAC เสริมด้วยมุมมองและอินไซต์ล่าสุดจาก 2 องค์กรคนรุ่นใหม่อย่าง Career Visa Thailandแพลตฟอร์มด้านการเป็นผู้นำ การทำงาน และไลฟ์สไตล์ของคนทำงานรุ่นใหม่ และ Sea Thailand ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำระดับโลก อาทิ การีนา (Garena) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำ ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และซีมันนี่ (SeaMoney) ผู้ให้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์และการเงินดิจิทัล ร่วมแชร์แนวทางสู่มิติเร่งด่วนในการยกระดับศักยภาพคน และองค์กรธุรกิจไทย
อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer and Managing Director, SEAC กล่าวเปิดประเด็นถึงความสำคัญของ Human Soft Skills ต่อองค์กรในวันนี้และอนาคตว่า “โลกการทำงานและตลาดแรงงานต่างมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย แต่เรากำลังเห็นได้ชัดเจนว่า กระแสคลื่นดิสรัปชั่นส่งผลกระทบให้บางตำแหน่งหายไป ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความต้องการรูปแบบหรือตำแหน่งงานใหม่ ๆ รวมทั้งมีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนทำงานในยุคนี้จึงต้องเข้าใจทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ตนเป็นที่ต้องการ สามารถตอบโจทย์การทำงาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในอนาคต คนทำงานทุกระดับจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้มีความสามารถแบบ “ไดนามิก” ที่ทำงานสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในบริบทโลกการทำงานที่พลิกโฉมอย่างรวดเร็ว การลงทุนในบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว”
“ผลการวิจัยของ Pearson ชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การจ้างงานบุคคลที่มี Soft Skill มากกว่า Hard Skill มักมีผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การพัฒนา Power Skill หรือทักษะทรงพลังในยุคปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่มุ่งมาสู่ Soft Skill ซึ่งส่งผลดีต่อองค์กรทั้งในหลายด้าน ทั้งมาตรฐานคุณภาพการทำงาน และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ประสิทธิภาพในการพัฒนาสู่ความเป็นองค์กรนวัตกรรม ตลอดจนต้นทุนในการจัดการทรัพยากรบุคคล นอกจากนั้น Soft Skill จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้บุคคลากร แม้แต่ในสายงาน Technical สามารถทำงานอยู่กับองค์กรได้ยาวนานขึ้น ฉนั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่จะบอกความแตกต่างระหว่างองค์กรที่แข็งแกร่งและองค์กรที่ด้อยประสิทธิภาพในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในยุคนี้ จะขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญและลงทุนในการประเมิน พัฒนา และวัดผลทักษะแบบ Soft Skill เหล่านี้มากน้อยเพียงใด” อริญญาเสริม
ในการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “มิติเร่งด่วนในการเสริมศักยภาพคนในปี 2022” ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Soft Skill ต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานในยุควิถีชีวิตใหม่โดย พลอย วสุธร หาญนภาชีวิน Chief Knowledge Officer (CKO) & Co-Founder ของ CareerVisa (Thailand) ให้ความเห็นว่า “เรามาถึงยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ หลายองค์กรมุ่งเน้นไปที่การคัดเลือก Technical Talent มากเกินไป จนบางครั้งอาจลืมไปว่ายังต้องการพนักงานที่มี Soft Skill ด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือเข้ามาใช้ และทำให้ automation ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ หลายองค์กรที่คัดเลือกพนักงานโดยพิจารณาจาก Soft Skill เป็นหลักจะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และอยู่กับองค์กรได้นานขึ้น เพราะ Soft Skill เป็นตัวช่วยที่ส่งเสริมให้ทักษะอื่น ๆ รวมทั้ง Technical Skill ของพนักงานแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
การมี Soft Skill ทางด้าน Thinking Skill หรือ Creativity Skill จะทำให้พนักงานสามารถพัฒนางาน หรือทักษะของตัวเองให้เท่าทันกับยุคสมัยและทิศทางของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่าง Emotional Intelligence ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานเข้ากับเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานข้ามสายงาน และอดทนต่อแรงกดดันได้ หรือ Initiative Skill การลงมือทำ ก็ช่วยให้พนักงานที่มี Technical Skill ที่แข็งแรงอยู่แล้วสร้างผลงานให้องค์กรได้มากขึ้น การลงทุนและให้ความสนใจในด้าน Soft Skill จึงถือว่าเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตที่อยู่ติดตัวไปตลอด และสามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว”
ขณะที่ นิติภัทร หาญตระการพงษ์ Head of People Team, Sea Thailand เสริมว่า “การที่องค์กรมุ่งเน้นแต่การพัฒนาทางด้าน Technical Skill ด้านเดียว อาจทำให้เกิดการสะดุดได้ เพราะยังมีงานอีกหลายประเภทที่เครื่องจักร AI ไม่สามารถทำหรือลอกเลียนแบบมนุษย์ได้ นั่นคืองานที่ต้องอาศัย Human Soft Skill ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้สั่งสมจากประสบการณ์และระยะเวลา Soft Skill ของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากบุคลากรสามารถหาจุดแตกต่างของตัวเองและขยายให้มีความเด่นชัดขึ้นมาได้ ก็จะทำให้สามารถเติบโตก้าวหน้าในการทำงานได้ไม่ต่างจากคนที่มี Hard Skill ที่ดีเลย หากเรามัวแต่ไปให้ความสำคัญเพียง Hard Skill ด้านเดียว ก็จะทำให้บุคลากรขาดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ขององค์กร ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ และไม่เกิดการเรียนรู้ จนเกิดปัญหาในองค์กรได้ สิ่งที่ตามมาคือทำให้องค์กรเสียเวลาและงบประมาณในการแก้ปัญหาทางด้านบุคลากร
อย่างในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า องค์กรที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น สตาร์ทอัพต่าง ๆ บุคลากรในองค์กรจะมีทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจการเรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่น การสื่อสาร หรือความฉลาดทางอารมณ์ การควบคุมตนเอง ทำให้บุคลากรทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เข้าใจองค์กร และดึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองในการทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดทีมเวิร์กที่แข็งแกร่งระหว่างคนในองค์กรอย่างแท้จริง”
ปิดท้ายที่บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์ Product Director, SEAC ได้กล่าวถึงแนวทางการเริ่มต้นยกระดับศักยภาพคนและองค์กรด้วย Human Soft Skills โดยอาศัย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนรู้แบบดั้งเดิมในห้องเรียน การเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งช่องทางไลน์ หรือ Tool Kits ผ่านแอปพลิเคชัน และการเรียนรู้สมัยใหม่อย่างการโค้ช หรือ คลาส Social Learning จากวิทยากรรับเชิญ มีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน การฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะ Soft Skill จำเป็นต้องฝึกฝน พัฒนา และนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการถดถอย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สั้น ๆ และไม่จบภายในครั้งเดียว
จากผลสำรวจบนบริบทของประเทศไทย ซีแอคแนะนำ 5 Hot Soft Skills ชุดทักษะสำคัญแห่งปี ที่ HR ควรเร่งพัฒนา เสริมแกร่ง สร้างภูมิให้คนองค์กรพร้อมเผชิญความท้าทาย และรู้เท่าทันโลกในยุคอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วย
1. Thinking กลุ่มทักษะทางด้านความคิดและความสามารถ -เพื่อสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนความสำเร็จทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยชุดทักษะ 6 อย่างที่เชื่อมโยงกัน คือ การคิดวิเคราะห์, ความยืดหยุ่นทางความคิด, การตัดสินใจ, การแก้ปัญหา,ความคล่องตัว ปรับตัวได้เร็ว และการวางแผนการทำงาน
2. Innovation กลุ่มทักษะที่เสริมสร้างนวัตกรรม – เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย การสื่อสาร, การเล่าเรื่อง, ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการ
3. Team กลุ่มทักษะความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน – เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ประกอบด้วย การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น, การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ,การทำงานร่วมกัน, การโน้มน้าวใจ, ความฉลาดทางอารมณ์ และความเป็นผู้นำ
4. Productivity กลุ่มทักษะการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน – เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้ดีและก้าวหน้าขึ้น ยกระดับผลิตภาพ และผลงานของปัจเจกบุคคล ประกอบด้วย การตระหนักรู้ในตนเองและรู้จักจัดการตนเอง,ความรับผิดชอบ, การพัฒนาตนเอง และการจัดการความเครียด
5. Virtual Work กลุ่มทักษะที่เพิ่มผลลัพธ์จากการทำงานระยะไกล – เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนในองค์กรที่ไม่ได้นั่งอยู่ข้าง ๆ หรือพบกันตัวต่อตัว ประกอบด้วย การนำคน นำองค์กรแบบ Hybrid และ การพัฒนากระบวนการทำงานใหม่ ๆ ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
SEAC องค์กรที่มุ่งเดินหน้าเสริมศักยภาพผู้นำ ผู้บริหารและบุคลากรไทยทุกระดับของประเทศไทย ด้วยเครื่องมือ นวัตกรรม ประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่าง ตลอดจนโซลูชั่นที่พร้อมจะช่วยพัฒนาชุดทักษะเหล่านี้ เพื่อเสริมศักยภาพของคนในองค์กรให้สร้างผลงานหรือผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างเหนือชั้น