วันอาทิตย์ ที่ 22 กันยายน 2567 11:46น.

AIS สานพลังความร่วมมือ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน-อสม. คว้ารางวัล “PM Awards 2021”

7 เมษายน 2022

        เอไอเอส โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และ อสม.ในพื้นที่ ร่วมยินดีและภาคภูมิใจหลังคว้ารางวัล Prime Minister’s Digital Awards 2021 ในหมวด Digital Community of the Year สาขา Well being จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะทางสุขภาพในภาพรวม ที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม

        นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.) กล่าวว่า “รางวัลนี้เป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานทุกคน และยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี สร้าง Well Being ให้เกิดขึ้นได้จริงในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน มีบุคลากรด้านสาธารณสุขเพียง 7,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้พบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร แต่ทว่ากลุ่มแนวหน้าที่สามารถทำงานเชิงรุกอย่าง อสม.ในพื้นที่ประมาณ 33,000 คน ได้เข้ามาช่วยทำให้การดูแลประชาชนดีขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ คือ ทักษะที่ดีในด้านการใช้เทคโนโลยีของกลุ่ม อสม.

        โดยเฉพาะการนำเอา แอปฯ อสม. ออนไลน์ มาปรับใช้ ช่วยให้ อสม.ทำงานได้อย่างคล่องตัว ทั้งการส่งข้อมูลที่เชื่อมต่ออย่างรวดเร็ว การรายงานสถานการณ์ที่แม่นยำ และการนำเอาฟีเจอร์ต่างๆภายในแอปฯมาผนวกใช้ เช่น การคัดกรองผู้ป่วยโควิด ตลอดจนการคัดกรองสุขภาพจิต ส่งผลให้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลของการคัดกรองและการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงตามหลักระบาดวิทยา รวมทั้งสามารถวางแผนการทำงานร่วมกับ อสม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าทัน และเท่าเทียม”

        นายแพทย์สุพัชร์ศักย์ พันธุ์ศิลา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า “การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ก็สอดคล้องไปกับนโยบายของโรงพยาบาล ที่ต้องการนำดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ชุมชนดูแลชุมชนในพื้นที่ และเราเองก็ดูแลชุมชนได้อย่างง่ายดาย ครอบคลุม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังลด Human Error ทั้งเรื่องข้อมูลตกหล่น หลงลืม หรือผิดพลาด เพราะทุกอย่างถูกเก็บในระบบ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นี่คือข้อดีของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้าง Well Being ให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลรายงานถึงฝ่ายบริหารระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด กรณีเกิดเหตุพบการแพร่ระบาดกลุ่ม (คลัสเตอร์) ได้อย่างฉับพลัน นำไปสู่การเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

        ปัจจุบัน อสม.ตำบลหัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด มีทั้งหมด 427 คน ดูแล 15 หมู่บ้าน โดย อสม. แต่ละคนจะรับผิดชอบคนละ 10-15 ครัวเรือน ซึ่งการนำทักษะด้านดิจิทัลมาปรับใช้กับ แอปฯ อสม.ออนไลน์ ทำให้การทำงานเป็นไปในเชิงรุก ยิ่งมีการใช้ฟีเจอร์สำคัญอย่างการคัดกรองโควิด ที่เน้นติดตามคนที่มาจากต่างพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังใช้ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิตได้มากกว่า 6,000 คน ช่วยให้ภาพรวมการดูแลสุขภาพจิตประชาชนเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ”

        นางกริชติยา ธรรมวัตร ประธาน อสม.โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าว่า “เราเริ่มใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์กันมาแล้วกว่า 2 ปี ซึ่งแอปฯนี้เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลและติดตามดูแลประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังลดขั้นตอนการทำงานจากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่ จดในกระดาษ แต่เดี่ยวนี้พิมพ์ลงไปในจอโทรศัพท์แปปเดียว โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทางแอปฯมีการพัฒนาฟีเจอร์คัดกรองผู้ป่วย ซึ่งเข้ามาช่วยการทำงานได้เยอะ ตั้งแต่การประเมิน บันทึกผลการตรวจ และส่งผลไปยังโรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือ ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิต จะมีแบบประเมินตนเอง ทำให้ อสม. ช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ หากพบว่าเข้าข่ายก็ส่งข้อมูลไปยังโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการรักษาได้ทันที ทำให้เราดูแลคนในพื้นที่ได้มากขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องมือเชิงรุกที่ช่วยดูแลสุขภาพองค์รวมได้อย่างดี”

        นางสายชล ทรัยพ์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ผลสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดพลังของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในพื้นที่ รวมถึงโรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สสจ. นี่เป็นตัวอย่างของการบูรณาการที่สมบูรณ์แบบ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ตั้งต้นของเอไอเอส ที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้คน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เราร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ อย่างต่อเนื่องผ่านการลงพื้นที่เพื่อค้นหา Pain Point จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นฟีเจอร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ให้สามารถส่งเสริมและสร้างสุขภาวะมวลรวมด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างทั่วถึงในทุกท้องถิ่น

        วันนี้ แอปฯ อสม.ออนไลน์ มี อสม.ใช้งานเป็นประจำแล้ว กว่า 500,000 ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งการคัดกรองโควิด, การสำรวจสุขภาพจิต, การติดตามสถานการณ์ลูกน้ำยุงลาย บ่อเกิดไข้เลือดออก รวมถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพต่างๆ ที่นอกจากจะทำให้การทำงานของ อสม.คล่องตัวแล้ว ยังทำให้การประเมินภาพรวมของคุณภาพชีวิต หรือ Well Being ของประชาชนในพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

        กล่าวโดยสรุปได้ว่า รางวัลดังกล่าวนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะท้องถิ่นเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนด้านการทำงานให้กับ อสม. ได้อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นการเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคสาธารณสุข ที่ต้องทำงานในพื้นที่ มีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยในวันนี้สร้างความเท่าทัน ได้อย่างทั่วถึงและเกิดความเท่าเทียมได้อย่างเป็นรูปธรรม


คลิปวิดีโอ