วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 01:02น.

ยิปซัมตราช้าง นำร่องติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ หนุนเทรนด์ Green Building รักษ์สิ่งแวดล้อม

1 เมษายน 2022

        ทุกวันนี้ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ต่างปล่อยคาร์บอนจากการผลิตรวมกันประมาณ 50 กิกะตันต่อปี ดังนั้น เป้าหมายการลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ของภาคธุรกิจหลายๆแห่งที่ตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

        ปัจจุบันงานก่อสร้างโครงการ หรืองานออกแบบอาคาร จะมองแค่เรื่องนวัตกรรมและความสวยงามอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องใส่ความยั่งยืนลงในงาน และคำนึงถึงปริมาณคาร์บอนของโครงการด้วย จากรายงานของ The International Finance Corporation (IFC) เกี่ยวกับอาคารสีเขียว เผยว่าใน 30 ปีข้างหน้านี้ การลงทุนภาคธุรกิจอาคารสีเขียว (Green Building) จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยพบว่า 2 ใน 3 อยู่ในเอเชียตะวันออกแปซิฟิกและเอเชียใต้ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน โดยมีการคาดการณ์การลงทุนถึง 24.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ[1] อีกทั้ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังได้ระบุว่า อาคารสีเขียวเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

        ดังนั้น “อาคารเขียว” (Green Building) เป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการ หรือผู้ที่อยู่ในธุรกิจก่อสร้างควรต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้วัสดุเพื่อโลก เพื่อความยั่งยืนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

        หากเจ้าของอาคารมองว่าการสร้างอาคารเขียว คือ การลงทุนที่สูญเปล่า อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะอันที่จริงแล้วอาคารเขียว สามารถเพิ่มมูลค่าของอาคารสำนักงานที่สูงกว่าอาคารทั่วไป โดยเฉพาะการประเมินมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งเป็นระบบการรับรองอาคารที่ยั่งยืนและได้รับการยอมรับในระดับสากล ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจ และสะท้อนกลับมาเป็นค่าเช่าพื้นที่โครงการ หรือสำนักงานที่สูงมากกว่าอาคารธรรมดาประมาณ 20%

        นั่นหมายความว่าระยะเวลาในการคืนทุนของอาคารเขียวจะสั้นกว่าอาคารธรรมดา แม้ว่าการสร้างอาคารเขียวในประเทศไทยจะเน้นมาตรการส่งเสริมเป็นหลัก ยังไม่ถึงขั้นภาคบังคับ แต่หากหน่วยงานใด หรือโครงการใดที่เห็นโอกาสก็สามารถเตรียมพร้อมได้ก่อน ซึ่งย่อมได้เปรียบในเชิงธุรกิจอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการเตรียมตัว หรืองบประมาณต้นทุนก่อสร้างที่น้อยกว่าในอนาคต โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มของดีมานด์ที่อาจจะสูงขึ้นเพื่อเอื้อต่อการยื่นอาคารเขียว

         นอกจากนี้ ยังมีผู้เช่าอาคารหรือลูกบ้านที่มองหาอาคารเขียว อันเนื่องมาจากนโยบายที่กำหนดมาจากต่างประเทศที่ต้องใช้อาคารเขียวในการดำเนินงานทางธุรกิจ เช่น อาคารสำนักงาน หรือคลังสินค้า โดยเฉพาะองค์กรที่มาจากสิงคโปร์มีนโยบายภาคบังคับในการมองหาอาคารที่ได้รับรองจาก LEED ในขณะที่ตลาดของอาคารเขียวในประเทศไทยในอนาคต อาจมีจำนวนไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เช่าที่กำลังเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานน้อย จึงเป็นไปได้ว่าอาคารที่ดำเนินการสร้างภายใต้แนวความคิดอาคารเขียว จะได้ค่าเช่าในสัดส่วนที่สูงขึ้น

        ในยุคปัจจุบันนี้ เรามองเห็นแนวโน้มความต้องการของลูกค้าโครงการ หรือเจ้าของบ้านบางส่วน ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และแนวโน้มดังกล่าวมีอัตราที่เติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้นเจ้าของโครงการมีหน้าที่ที่จะตอบสนองให้ลูกค้ากลุ่มนั้นมั่นใจได้ว่าเขาอยู่ในอาคารหรือบ้านที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคยุคนี้มองเรื่องแบรนด์ที่ให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และวิธีการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องดังกล่าวได้ คือ การพิจารณาเลือกวัสดุก่อสร้างที่ผ่านเกณฑ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลงทุนด้านอาคารเขียวจะกลายมาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร สะท้อนถึงมูลค่าแบรนด์ที่ประเมินราคาไม่ได้

        ยิปซัมตราช้าง เป็นผู้ผลิตในประเทศไทยรายแรกที่ผลิตแผ่นยิปซัมที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมั่นใจได้ว่าตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้งาน ตลอดจนการกำจัดเศษซากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรฐาน TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI) รวมถึงการประเมินมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งเป็นระบบการรับรองอาคารที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดย ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์มี 3 รุ่น ได้แก่ แผ่นยิปซัมมาตรฐาน ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. ได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ 3.43 ในขณะที่แผ่นยิปซัมทนชื้น ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. ได้ 3.35 และ แผ่นยิปซัมทนไฟ ตราช้าง ความหนา 15 มม. ได้ 7.98 ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน


คลิปวิดีโอ